ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์กอง REIT buy-back สอดรับมาตรการสนับสนุนด้านภาษีและค่าธรรมเนียม

Categories : Update News, Wealth

Public : 09/02/2022

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน หรือ กอง REIT buy-back ให้สอดคล้องกับมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีและค่าธรรมเนียมของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการระดมทุนเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตามที่ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์สนับสนุนการระดมทุนผ่านกอง REIT buy-back เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเพื่อช่วยลดต้นทุนในการระดมทุนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติม โดยได้ประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขอการสนับสนุนมาตรการทางด้านภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการระดมทุนผ่านกองทรัสต์ดังกล่าว โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าอากรแสตมป์ และลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการขายและซื้อคืนทรัพย์สินระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับกอง REIT buy-back เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับกอง REIT buy-back แล้ว ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์กอง REIT buy-back เพื่อให้มั่นใจว่ากองทรัสต์ดังกล่าวจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนจริง และสอดคล้องกับมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีและค่าธรรมเนียมจากภาครัฐ โดยหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์การระดมทุนด้วยกอง REIT buy-back มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเป็นเครื่องมือของตลาดทุนที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมให้เช่า ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องจากสถานการณ์ COVID-19 ให้สามารถขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กอง REIT buy-back โดยมีกลไกให้ซื้อทรัพย์สินคืนได้ในอนาคตภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้ และผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถทำข้อตกลงในการเช่าทรัพย์สินกลับไปบริหารได้ด้วย ซึ่งช่วยให้ได้รับเงินจากการขายทรัพย์สินไปช่วยเสริมสภาพคล่องกิจการ และยังสามารถรักษาความเป็นเจ้าของทรัพย์สินไว้ได้ โดยซื้อทรัพย์สินกลับคืนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมแบบ filing สำหรับกอง REIT buy-back ที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหรือยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ภาคเอกชนอีกด้วย