ผู้ว่าฯ ธปท. เผยบาทอ่อนเป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมจับตาอย่างใกล้ชิด

Categories : Update News, Finance

Public : 09/29/2022
 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเงินบาทที่อ่อนค่าว่า ธปท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะเข้าไปดูแลตอนที่มีความผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดูแลจะต้องไม่ฝืนทิศทางตลาด   สาเหตุการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าแล้วราว 12% ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่ง ธปท. พร้อมดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบต่อการการนำเข้าและส่งออก รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันว่ามีผลต่อเสถียรภาพไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการกู้เงินจากต่างประเทศในระดับต่ำ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในปัจจุบันนั้นยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล โดยพบว่ายังเป็นการไหลเข้าสุทธิอยู่

“ธปท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะเข้าไปดูแลตอนที่ความผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และไม่อยากเห็นความผันผวนที่สูงเกินไป แต่การดูแลจะต้องไม่ฝืนทิศทางตลาด เพราะรู้ว่าคงฝืนไม่ได้ และไม่เหมาะสม อีกทั้งเราไม่ใช้นโยบายในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน และไทยเองเคยมีบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 มาแล้ว โดย ธปท. เองไม่ได้มีระดับในใจว่าเงินบาทจะต้องอยู่ที่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่ ธปท. ดู คือไม่ให้เกิดความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ผู้ว่าธปท. เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยนั้น ยอมรับว่าอาจจะส่งผลกระทบกับการส่งออก โดยล่าสุด ธปท. ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3.3% ขณะที่ปี 66 ที่ระดับ 3.8% ซึ่งรวมสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% ได้ในปี 2566 จากที่ทำสถิติสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทำสถิติสูงสุดในไตรมาส 4/2565 โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

“ไม่ได้มีเป้าหมายในใจว่าจะต้องปรับเท่าไหร่ หรือปรับขึ้นกี่ครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับเวลาและบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่า หากสถานการณ์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งที่เรากังวล เพราะเป็นตัวสะท้อนว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดหรือไม่ หากปัจจัยเหล่านี้ต่างจากคาดการณ์ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมที่จะปรับทิศทางนโยบายการเงิน หรือพร้อมที่จะประชุมนัดพิเศษต่อไป”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ส่วนการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังธนาคารพาณิชย์นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ ธปท.อยากเห็นการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะสิ่งที่ ธปท. อยากเห็นและต้องการให้ดำเนินการในทิศทางการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ