เกษตรกรสุดทน ยื่นหนังสือร้อง ป.ป.ช. – ป.ป.ท. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ
Categories : Update News, PR News
Public : 09/30/2022เกษตรกรสุดทน ยื่นหนังสือร้อง ป.ป.ช. – ป.ป.ท. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ เหตุยังปล่อย “ขบวนการหมูเถื่อน” เกลื่อนเมือง
กลุ่มตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอให้ตรวจสอบการการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ในการปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน โดยไม่เคยเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดทั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบริษัทผู้นำเข้าได้ไม่ยาก ขณะที่ “หมูเถื่อน” ยังคงมีวางขายปะปนกับหมูไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนเกษตรกรไม่รู้จบ
“การตรวจจับหมูเถื่อนในขณะนี้นับว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับปริมาณที่ลักลอบนำเข้า ซึ่งผ่านด่านสำคัญอย่างท่าเรือแหลมฉบัง เข้ามาเป็นจำนวนนับพันตู้ต่อเดือน แต่กลับไม่พบการตรวจจับ ณ ท่าเรือเลย จึงน่าสงสัยมาก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการตรวจสอบ ณ ท่าเรือนั้น นอกจากนี้ การตรวจจับก็ยังไม่เคยเปิดเผยผู้กระทำผิด ทั้งๆที่ประเทศไทยมีรายชื่อผู้นำเข้าได้อยู่เพียงไม่กี่ราย อยากให้ ป.ป.ช.ช่วยตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส เพราะเกษตรกรเดือดร้อนกับขบวนการนี้เป็นอย่างมาก หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เกษตรกรายย่อยจะไม่มีทางฟื้นคืนอาชีพได้เลย” เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกล่าว
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือระบุว่าปัจจุบันเกิด “ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน” เข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวนมาก ในลักษณะหมูแช่แข็งบรรจุกล่องใส่ตู้คอนเทนเนอร์เก็บความเย็น กระทั่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย ทำให้ปริมาณการขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในทุกพื้นที่ทั่วประเทศลดลง และส่งผลถึงระดับราคาหมูที่เกษตรกรควรจะได้รับ ตลอดจนเป็นความเสี่ยงในระดับที่อาจทำให้อุตสาหกรรมหมูไทยล่มสลาย เนื่องจากหมูลักลอบนำเข้าส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบตะวันตกทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมีการระบาดของโรค ASF อย่างกว้างขวาง นับเป็นโรคที่สร้างความเสียหายแก่หมูไทยไปแล้วกว่าล้านตัว อีกทั้งในประเทศต่างๆดังกล่าวยังใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูกันอย่างเสรีซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้จะส่งผลกระทบระยะยาวถึงความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ตลอดจนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังต้องการ
การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมีการสำแดงเท็จเป็นสินค้าชนิดอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจโรค เลี่ยงภาษี เลี่ยงการขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ขณะเดียวกันก็มีการวางขาย หมูเถื่อน ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเปิดเผย ไม่เกรงกลัวกฏหมาย โดยเข้าสู่ราชอาณาจักรไทยทั้งด่านชายแดนและท่าเรือต่างๆ ได้อย่างสะดวกราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ท่าเรือแหลมฉบัง” ที่มีข้อมูลว่ามีการนำเข้าถึงเดือนละ 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์
แม้ภาครัฐจะมีการตรวจจับบ้างเป็นระยะแต่ก็เป็นจำนวนน้อยไม่สอดคล้องกับปริมาณหมูในท้องตลาด และมีคำถามที่เกษตรกรตั้งข้อสังเกต ดังนี้ 1. การดำเนินการของเจ้าหน้าที่มีความหละหลวมหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ 2. การตรวจจับ “หมูเถื่อน” ในแต่ละคดี ไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้กระทำผิดและไม่พบแม้แต่คดีเดียวที่ติดตามไปถึงบริษัทผู้นำเข้า 3. แนวทางในการป้องกันและปราบปรามขบวนการดังกล่าวยังไม่มีการสื่อสารอย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัวต่อกฏหมายขึ้นบ้าง 4. เพื่อเป็นการป้องกันโรค ASF ที่อาจติดมากับหมูเถื่อน รัฐจำเป็นต้องฝังทำลายหมูเถื่อนตามหลักวิชาการ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานจำนวนหมูที่ถูกทำลายและไม่ทราบว่าสอดคล้องกับจำนวนที่ตรวจจับหรือไม่
จึงขอให้ ป.ป.ช.และ ป.ป.ท. ตรวจสอบกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อทำให้กระบวนการทำงานโปร่งใส นำไปสู่การดำเนินการทางกฏหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด อันจะก่อให้เกิความมั่นใจในการประกอบอาชีพเลี้ยงหมูของเกษตรกรไทย เพิ่มผลผลิตหมูให้เข้าสู่สมดุล เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศต่อไป