EXIM BANK ประกาศจุดยืนเป็นธนาคารที่กล้าพัฒนาธุรกิจไทย ตั้งเป้าขยายสินเชื่อแตะ 3 แสนล้านในปี 2570

Categories : Update News, Finance

Public : 11/03/2022

EXIM BANK ประกาศจุดยืนใหม่ เป็นธนาคารที่กล้าพัฒนาธุรกิจไทp ชู 3 เครื่องมือใหม่พัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ พาผู้ประกอบการบุกตลาด New Frontiers รวมถึง CLMV พร้อมยกระดับธุรกิจไทยสู่ BCG Model ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อคงค้างแตะ 3 แสนล้านบาทภายในปี 2570

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศจุดยืนและบทบาทใหม่ “EXIM BANK รวมพลคนกล้า พัฒนาเพื่อคนไทย และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อถอดรหัสความกล้า พลิกโฉมประเทศไทยในเวทีโลกว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าเศรษฐกิจและการส่งออกขยายตัว 3.4% และ 8.1% ตามลำดับ ในส่วนของภาคการส่งออกยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยอาศัยบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง  EXIM BANK ในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอด Supply Chain ให้เติบโตยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ได้ ต้องใช้ ความกล้า เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดมิติใหม่ขององค์ความรู้ โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เครือข่ายธุรกิจ การถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ให้สามารถปรับตัวให้ก้าวทันโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระแสรักษ์โลก และความยั่งยืน และผู้ประกอบการไทยต้องกล้าเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ตัวตน (Identity) และโมเดลธุรกิจ (Business Model)

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ธนาคารเดินหน้าขยายบทบาทการเป็นผู้นำ สร้างนักรบเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในเวทีโลก โดยใช้ 3 เครื่องมือใหม่ ได้แก่

    1. บริการสร้างตัวตนแบบครบวงจรให้ SMEs ไทยในเวทีโลก ด้วยเครื่องมือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ตั้งแต่การให้ข้อมูล บ่มเพาะ อบรมสัมมนา และให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วน เพื่อช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก Nobody เป็น Somebody ในตลาดโลกได้
    2. บริการสร้างโอกาสการลงทุนในต่างแดน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีศักยภาพ (Amazing M) ในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิตและขยายเครือข่ายทางการค้า
    3. บริการยกระดับธุรกิจไทยสู่ BCG Model มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่รายย่อย รายกลาง ไปจนถึงรายใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ BCG ในประเทศไทย เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลก โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจ BCG ของไทย
  EXIM รวมพลคนกล้า  

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนองค์กรในหลายด้าน อาทิ การใช้มาตรฐานทางการเงินใหม่ IFRS9 , การปรับ Portfolio ให้มีความสมดุล รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG  อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มสูง , การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) , การสนับสนุนผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ รวมทั้งบุคคลธรรมดาให้เข้าสู่ Supply Chain การส่งออกได้ ด้วยนวัตกรรมสินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดา” , โครงการ Top Executive Program เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้ธุรกิจไทยเติบโตบนเวทีโลก , โครงการ EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บน E-Commerce ชั้นนำของโลก นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป อาทิ EXIM Solar Orchestra เงินทุนติดตั้ง Solar Rooftop ในโรงงาน พร้อมเชื่อมโยง Ecosystem ตลาดคาร์บอนครบวงจร EXIM Green Bond ซึ่งเป็น SFI แห่งแรกที่ออกพันธบัตรระยะยาวอ้างอิง THOR , EXIM Biz Transformation Loan เงินทุนช่วยยกระดับธุรกิจ ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี , EXIM Shield Financing เงินทุนครบวงจร และอยู่ระหว่างพัฒนาสินเชื่อ E-Commerce Financing สนับสนุนการค้าขายออนไลน์ , ระบบ Credit Scoring ใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ , การจัดทำ EXIM Index เครื่องมือชี้วัดทิศทางการส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

สำหรับผลการดำเนินงานเดือนมกราคม-กันยายน 2565 หรือ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 51,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นวงเงินของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 12,961 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสินเชื่อคงค้าง 159,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,137 ล้านบาท หรือ 8.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ 20 ตุลาคม 2565 สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 162,513 ล้านบาท คาดว่าภายในปี 2565 จะทะลุ 165,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อคงค้างเป็น 300,000 ล้านบาทภายในปี 2570