สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไทย Q3/65 โต 4.5% ส่วนปี 66 คาดโต 3-4%

Categories : Update News

Public : 11/21/2022
 

สภาพัฒนาฯ เผยไตรมาส 3/65 จีดีพีไทยขยายตัว 4.5% ส่วนทั้งปี 65 มั่นใจโต 3.2% ขณะที่ปี 66 คาดโต 3-4% ค่ากลางที่ 3.5% รับอานิสงส์ท่องเที่ยว การบริโภค-ลงทุนเอกชน แต่มีเศรษฐกิจโลก-หนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยเสี่ยง

  นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 3/65 และแนวโน้มทั้งปี 65 และปี 66 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% โดยได้รับอานิสงส์จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 9% และการลงทุนภาคเอกชน 11% รวมถึงการส่งออกบริการที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.1%

  ขณะที่การส่งออกขยายตัวได้ 6.7% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 9.7% โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง เช่น รถยนต์นั่ง เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือน มูลค่าการส่งออกขยายตัว 10.2% ด้านการนำเข้าขยายตัวได้ 23.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 7.3%

  ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% ด้านการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 7.5% การนำเข้าคาด 17.8% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 6.3%

  ส่วนแนวโน้มปี 66 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3-4% โดยมีค่ากลางที่ 3.5% ส่วนการส่งออกจะขยายตัวได้ 1% และการนำเข้าขยายตัว 1.6% ด้านเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-3.5%

  โดยเศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดว่าจะมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ภายหลังจากากรเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศทั้งไทยและต่างประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

 

  นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน และการขยายตัวของภาคการผลิตภาคเกษตร ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 3% ส่วนการลงทุนภาคเอกชน 2.6% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.4%

  สำหรับสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย เศรษฐกิจโลกในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.6% จากการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของธนาคารกลางเพื่อลดแรงกดดดันของเงินเฟ้อ ความยืดเยื้อของประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

  ด้านค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 66 คาดอยู่ที่ 35.5-36.5 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากเฉลี่ยปีนี้ที่ 35.2 บาทต่อดอลลาร์ โดยเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ตามการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างช้าๆ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 66 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากเฉลี่ยปีนี้ที่ 98.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่จะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบลดลง

  ขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ ประมาณการที่ 1.2 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 23.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 0.57 ล้านบาท และ 10.2 ล้านคน ตามความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้นภายหลังการเปิดประเทศให้มีการเดินทางมากขึ้น ส่วนในกรณีฐานคาดว่ารัฐบาลจีนจะเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 66

  อย่างไรก็ตาม ในปี 66 ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ ความยืดเยื้อของปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน

  นอกจากนี้ยังต้องติดตามภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย รวมถึงยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้สถานการณ์ในปัจจุบันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย

  ด้านประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 66 ประกอบด้วย   1.การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เป็นไปอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ไจภาระหนี้เดิมและการปรับโครงสร้างหนี้

  2.การดูและการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

  3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า ให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ควบคู่ไปกับการรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต โดยให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดี และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงการติดตามสถานการณ์การค้าโลกท่ามกลางแนวโน้มการแข่งขันระหว่างประเทศ การพัฒนาสินค้าเกษตร การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น

  4.การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมสำหรับปัจจัยสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้เหมาะสมและเพียงพอเพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

  5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพื่อให้กิจการที่มีศักยภาพสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 63-65 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

  6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 93% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ของงบประมาณทั้งหมด การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามแผนงาน เป็นต้น

  7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

  8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 และโรคติดเชื้ออื่นเพื่อเตรียมการป้องกันได้อย่างทันท่วงที

  “ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ศักยภาพอาจมีมากกว่านี้ ซึ่งหากมีการลงทุนเอกชน และอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐได้เต็มที่ มีการท่องเที่ยวเพิ่มอาจขยายตัวได้มากกว่านี้ แต่ระดับ 3.2% และปีหน้าที่ 3.5% ถือเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ การโต 7-8% ต้องอาศัยการลงทุนและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มากกว่านี้”นายดนุชา กล่าว

  นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ หากพิจารณาตัวเลขอาจไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมา ส่วนช่วงปีใหม่ที่หลายหน่วยงานกำลังพิจารณาอยู่นั้น จะเป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลจะออกมา เป็นมาตรการที่ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่เป็นลักษณะให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติม อาจเป็นลักษณะแบบนั้น โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป