‘SAF’ เคาะราคาเสนอขาย IPO ที่ 1.93 บาทต่อหุ้นแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เป็น Lead UWพร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อระหว่างวันที่ 29 – 30 พ.ย. และ 1 ธ.ค. 2565 นี้
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 บริษัท เอส.เอ.เอฟ. สเปเชียล สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ SAF ได้ลงนามแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Lead Underwriter) พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Co-Underwriter)
นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เปิดเผยถึงแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บมจ. เอส.เอ.เอฟ. สเปเชียล สตีล หรือ SAF ว่า แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว โดยจะดำเนินการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 80 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.67% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ พร้อมกำหนดราคาเสนอขายที่ 1.93 บาทต่อหุ้น พร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในระหว่างวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคม 2565 ผ่านช่องทางจองซื้อที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แต่ละรายกำหนด ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ประมาณช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “SAF”
สำหรับราคาเสนอขาย IPO ของ SAF ที่ 1.93 บาทต่อหุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ สะท้อนความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนศักยภาพในการสร้างโอกาสเติบโตจากการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่ง SAF มีจุดเด่นและความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรม ดังนี้ (1) ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเหล็กกล้าเกรดพิเศษคุณภาพสูง จากบริษัทระดับโลกในประเทศเยอรมนี อาทิ DÖRRENBERG EDELSTAHL GmbH และ WILHELM OBERSTE-BEULMANN GmbH (2) มีการต่อยอดรายได้จากบริการชุบเหล็กกล้าที่ครบวงจร โดยวางแผนลงทุนเตาชุบแบบไนไตรดิ้ง (3) โอกาสการเติบโตไปพร้อมกับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (4) มีความเชี่ยวชาญและอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าเกรดพิเศษมากว่า 30 ปี ดังนั้น จึงมีความมั่นใจว่า SAF จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน และเป็นอีกหนึ่งหุ้นคุณภาพในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ อย่างแน่นอน
ดร.พิศิษฐ์ อริยเดชวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส.เอ.เอฟ. สเปเชียล สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ SAF กล่าวว่า ภายหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ ทำให้บริษัทฯ มีศักยภาพเดินหน้าสร้างการเติบโตได้มากยิ่งขึ้น จากความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจตามเป้าหมาย โดยบริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ไปลงทุนโครงการโรงงานและคลังสินค้าแห่งใหม่ (SAF3) เพื่อเพิ่มปริมาณการจัดเก็บวัตถุดิบเป็น 4,000 ตัน มูลค่าเงินลงทุนรวม 80 ล้าน โดยคาดจะเริ่มก่อสร้างโครงการภายในปี 2566 และมีแผนเปิดใช้งานภายในไตรมาส 2 ปีหน้า นอกจากนี้ จะนำเงินไปลงทุนระบบเตาชุบแบบไนไตรดิ้ง เพื่อให้บริการชุบแก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร
นายพิศาล อริยเดชวณิช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอส.เอ.เอฟ. สเปเชียล สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ SAF กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจเหล็กกล้าเกรดพิเศษ ต้องมีการเก็บวัตถุดิบหลากหลายชนิด หลากหลายรายการสินค้าย่อย (SKU) และมีปริมาณสินค้าในคงคลังที่มากพอต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ มีคลังสินค้าจำนวน 2 แห่ง สามารถเก็บวัตถุดิบรวมสูงสุดได้ประมาณ 2,000 ตัน โดยในปี 2564 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการจัดเก็บวัตถุดิบเฉลี่ยประมาณ 70.50% ของความสามารถในการจัดเก็บสูงสุด ซึ่งตามแผนธุรกิจที่มีเป้าหมายยอดขายเติบโตต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงต้องเพิ่มปริมาณการจัดเก็บวัตถุดิบให้มากขึ้น ด้วยการลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มปริมาณการจัดเก็บวัตถุดิบรวมสูงสุดเป็น 4,000 ตัน พร้อมทั้งจะต่อยอดมูลค่าผลิตภัณฑ์สู่การให้บริการชุบแบบไนไตรดิ้ง ที่ช่วยทำให้เหล็กกล้าเกรดพิเศษมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการเสริมความแข็งแกร่งให้พื้นผิวเหล็ก เพิ่มความทนทานต่อการสึกหรอและการกัดกร่อน ทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้ SAF สามารถนำเสนอบริการให้แก่ลูกค้าได้แบบครบวงจร และเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ภญ.ลีนา อริยเดชวณิช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เอส.เอ.เอฟ. สเปเชียล สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ SAF กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 214.75 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 15.53 ล้านบาท สามารถสร้างการเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้รวม 182.32 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.45 ล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวของปริมาณการจำหน่ายเหล็กกล้าเกรดพิเศษ ตามการเติบโตของลูกค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามยอดการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนที่สูงขึ้น ประกอบกับลูกค้าในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ รวมทั้งยังได้ปัจจัยบวกจากราคาจำหน่ายเฉลี่ยที่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) บริษัทฯ มีรายได้รวม 169.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมกำไรสุทธิ 10.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับราคาขายให้สูงขึ้นตามราคาเหล็กกล้าในตลาดโลก และการควบคุมต้นทุนในการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19