กสิกรไทย…ฟันธง! ปีหน้าเกษตรกรไทยอ่วมรายได้หดตัว ปัจจัยลบเพียบ

Categories : Update News

Public : 12/04/2022

ภาพรวมรายได้เกษตรกรสุทธิในปี 2566 น่าจะเผชิญความท้าทายมากขึ้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทสินค้าเกษตร เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอลง จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งความต้องการสินค้าเกษตรและกดดันราคา โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในคำสั่งซื้อจากจีน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้เกษตรกรในปี 2566 อาจหดตัวอยู่ที่ราวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่น่าจะขยายตัวร้อยละ 13.5 ขณะที่ต้นทุนการผลิตอย่างราคาน้ำมันและราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก แม้คาดว่าจะย่อลงจากปี 2565 แต่ยังคงอยู่บนฐานสูง ทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิอยู่ในกรอบที่แคบลง

กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความท้าทายสูง คือ ยางพารา และทุเรียน จากความต้องการที่ชะลอตัวและการพึ่งพาตลาดจีนค่อนข้างสูง ส่วนกลุ่มที่ประคองตัวได้ คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากแรงหนุนความต้องการของตลาดในประเทศ ขณะที่อ้อย ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม และกลุ่มที่เผชิญความท้าทายน้อย คือ ข้าว และมันสำปะหลัง ที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ดีตามอุปสงค์ที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ แต่ต้องจับตาอิทธิพลของลานีญา

ภาพรวมรายได้เกษตรกรปี 2566 อาจหดตัวราวร้อยละ 0.8 (YoY) จากแรงฉุดด้านราคาเป็นหลัก ตามอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงชะลอลง โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างจีน ขณะที่ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรน่าจะใกล้เคียงกับปี 2565

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2566 อาจให้ภาพที่หดตัวมาอยู่ที่ราวร้อยละ 0.8 (เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่อาจขยายตัวพุ่งสูงที่ร้อยละ 13.5 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 16) จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างจีน ที่แม้จีนอาจลดความเข้มงวดและใช้มาตรการ Dynamic Zero-COVID แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน mRNA ที่ยังมีความไม่แน่นอนอีกทั้งเศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งความต้องการสินค้าเกษตรจากไทย และกดดันราคาให้อาจปรับตัวลดลงราวร้อยละ 1.0 (YoY) แม้ว่าในฝั่งของอุปทานสินค้าเกษตรจะยังให้ภาพที่ดีหรืออาจขยายตัวได้ราวร้อยละ 0.2 (YoY) ด้วยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตสินค้าเกษตรจากผลของลานีญา ทำให้คาดว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2566 อาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น จากแรงฉุดของอุปสงค์ที่กดดันราคาเป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละสินค้าเกษตร จะพบว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรที่ลดลงในปี 2566 จะมาจากแรงฉุดด้านราคาที่ลดลงเป็นหลักคิดเป็นราวร้อยละ 1.0 (เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ราคาอาจขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 11.1 หลังจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 11.9) ซึ่งมาจากราคาสินค้าเกษตรในรายการหลักเป็นส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ทุเรียน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากแรงฉุดด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และสอดคล้องไปกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในตลาดโลกที่น่าจะย่อลงจากฐานที่พุ่งสูงในปี 2565 อย่างไรก็ดี ข้าว น่าจะเป็นพืชที่ยังประคองราคาให้ขยายตัวเป็นบวกต่อได้ จากความต้องการที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ในฝั่งของผลผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิด คาดว่า น่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2565 จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต

ขณะที่ในฝั่งของต้นทุนการผลิต แม้คาดว่าจะย่อลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาปุ๋ยเคมีนำเข้าที่ลดลง แต่นับว่ายังเป็นต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังมีอยู่

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรในปี 2566 น่าจะย่อลงจากฐานที่พุ่งสูงในปี 2565 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาปุ๋ยเคมีนำเข้าที่อาจปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีทีท่ายืดเยื้อ จะทำให้โดยภาพรวมแล้วราคาปัจจัยการผลิตดังกล่าวนับว่ายังคงยืนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตดังกล่าว แม้คาดว่าค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนได้ทั้งสองทิศทางเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คาดว่าไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าในระดับสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทย และทำให้ในปี 2566 เกษตรกรส่วนใหญ่คงต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังยืนอยู่ในระดับสูง

ผลของราคาที่ฉุดรายได้เกษตรกรรวมให้ลดลง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูง ทำให้ท้ายที่สุด รายได้เกษตรกรสุทธิในปี 2566 อาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น กดดันความเป็นอยู่ของเกษตรกรในภาพรวม

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรสุทธิในปี 2566 อาจให้ภาพที่ย่อลงเมื่อเทียบกับปี 2565 และคงมีความท้าทายมากขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า ทั้งเรื่องราคาขายและต้นทุนการผลิต ซึ่งคงจะเผชิญความท้าทายในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของสินค้าเกษตร ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรสุทธิที่ประเมินดังกล่าว จะยังไม่นับรวมวงเงินช่วยเหลือจากมาตรการประกันรายได้ของภาครัฐ โดยจะแบ่งสินค้าเกษตรออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

  • กลุ่มที่เผชิญความท้าทายมาก คือ ยางพารา และทุเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ทำให้รายได้สุทธิลดลงมาก จากราคาที่ปรับตัวลดลง เพราะพึ่งพาตลาดจีนสูง ทำให้ได้รับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน และยังต้องเผชิญต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะสัดส่วนแรงงานและปุ๋ยเคมีในระดับสูง
  • ยางพารา เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักราวร้อยละ 36.4 ของปริมาณการส่งออกยางพาราไทย จึงอาจเผชิญความท้าทายด้านอุปสงค์จากจีน ที่อาจกระทบภาคการผลิตรถยนต์ของจีนเป็นหลัก (จีนมีการนำยางพาราธรรมชาติไปใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายแบ่งเป็น การผลิตยางล้อ 76% , ถุงมือยาง หมอนยางพารา ถุงยางอนามัย 12%และอื่นๆ 12%) รวมถึงตลาดในประเทศที่มีความท้าทายจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เพิ่งฟื้นตัวและถุงมือยางที่อาจชะลอลงหลังโควิดเริ่มคลี่คลาย อีกทั้งยางล้อเพื่อการส่งออกยังอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา คงต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูง โดยเฉพาะค่าแรงงานและค่าปุ๋ยเคมี เนื่องจากมีการพึ่งพาแรงงานและใช้ปุ๋ยเคมีในสัดส่วนสูง อีกทั้งอาจประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องเผชิญรายได้เกษตรกรสุทธิที่มีความท้าทายสูง
  • ทุเรียน เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูงราวร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนสดของไทย ทำให้มีความเสี่ยงสูงจากแรงฉุดด้านอุปสงค์จากจีน ประกอบกับจีนเริ่มมีการปลูกทุเรียนได้เองและยังมีการขยายการลงทุนไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น สปป.ลาว ทำให้อุปทานในตลาดโลกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คู่แข่งอย่างเวียดนาม ก็เร่งผลิตเพื่อส่งออกทุเรียนไปขายยังจีนเช่นกัน กระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ซึ่งจะกดดันราคาและอาจกระทบรายได้สุทธิให้เผชิญความท้าทายมากขึ้น
  • กลุ่มที่สามารถประคองตัวได้ คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สุทธิใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก จึงอาจลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่ไม่แน่นอนในการส่งออกไปยังตลาดโลก และมีราคาที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี สอดคล้องไปกับราคาพืชพลังงานและอาหารสัตว์ที่ยังยืนสูงจากอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว ผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมีอยู่
  • ปาล์มน้ำมัน แม้ราคาจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่นับว่ายังเป็นราคาที่อยู่ในระดับสูงตามอุปทานพืชน้ำมันในตลาดโลกที่ตึงตัว จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และด้วยการพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลักกว่าร้อยละ 80 ทำให้มีอุปสงค์ในหมวดอาหารที่ฟื้นตัวขึ้นรองรับ อย่างไรก็ดี เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน คงต้องเผชิญต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีในระดับสูง แม้จะย่อลง จากการที่ปาล์มน้ำมันพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพืชเกษตรอื่น ท้ายที่สุด ราคาขายที่ลดลงจะใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตส่วนที่ลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิอาจใกล้เคียงกับปี 2565
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ราคาจะปรับลดลง แต่ยังคงยืนสูง ตามอุปสงค์ในประเทศที่มีรองรับ ด้วยการพึ่งพาตลาดในประเทศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในอาหารสัตว์ตามการฟื้นตัวของภาคปศุสัตว์ อีกทั้งผู้ประกอบการปศุสัตว์ยังอาจสามารถปรับสูตรอาหารสัตว์ได้ระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ในจังหวะที่อุปทานข้าวสาลีในตลาดโลกยังคงตึงตัว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยยังมีผลผลิตที่ดี ทำให้จะมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และดันราคาได้ สอดคล้องไปกับราคาธัญพืชโลกที่ยังยืนสูงตามอุปทานโลกที่ตึงตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตอาจใกล้เคียงกับปี 2565 ทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิอาจลดลงถึงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2565
  • อ้อย ราคาอ้อยอาจลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่บนฐานสูง ตามอุปสงค์ที่มีในหมวดอาหารและพลังงานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี จากการที่บราซิลนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น ผนวกกับอุปทานอ้อยไทยที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง ตามการใช้แรงงานและปุ๋ยเคมีในสัดส่วนสูง อย่างไรก็ดี คงมีประเด็นติดตามในร่างแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่ยังมีความไม่ชัดเจนในนิยามของคำว่า กากน้ำตาล ซึ่งอาจกระทบต่อราคาและผลผลิตอ้อยให้มีความไม่แน่นอนสูงได้ในระยะข้างหน้า
  • กลุ่มที่เผชิญความท้าทายน้อย คือ ข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้รายได้สุทธิค่อนข้างดี จากอุปสงค์ที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ แต่คงต้องเผชิญต้นทุนปุ๋ยเคมีในระดับสูงและต้องจับตาอิทธิพลของลานีญาที่มีผลต่อการเพาะปลูก ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตโดยเฉพาะข้าว
  • ข้าว มีราคาที่ยังขยายตัวต่อได้ ตามอุปสงค์ที่มีรองรับ ขณะที่ไทยสามารถผลิตข้าวได้ในระดับสูง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจากผลของลานีญา แต่เกษตรกรคงต้องเผชิญต้นทุนราคาปุ๋ยเคมีในระดับสูง เนื่องด้วยข้าวพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีในสัดส่วนร้อยละ 20-30 ของต้นทุนการผลิตรวม สุดท้ายด้วยราคาขายที่ดี จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรสุทธิยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาความไม่แน่นอนด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน จนอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวและรายได้เกษตรกร
  • มันสำปะหลัง แม้จะเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักราวร้อยละ 80 ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย จึงมีความเสี่ยงจากอุปสงค์ของจีน ทำให้ราคาย่อลง แต่ด้วยมันสำปะหลังเป็นทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน ทำให้มีอุปสงค์ในประเทศบางส่วนรองรับ จึงช่วยพยุงราคาไว้ได้บ้าง โดยเฉพาะอุปสงค์ในอาหารเทรนด์ใหม่อย่างโปรตีนจากพืชที่มีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงความต้องการเอทานอลที่กำลังฟื้นตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับปี 2565 ทำให้รายได้สุทธิยังสามารถอยู่ในเกณฑ์ดีได้

ทั้งนี้ คงต้องจับตาประเด็นความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะ Dynamic Zero-COVID Policy หลังเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งปัจจุบันจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการกักตัว/ตรวจเชื้อ และมีแผนที่จะเร่งฉีดวัคซีน mRNA ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จีนจะทยอยความเข้มงวดของมาตรการลงตามลำดับหากการระบาดของโควิดอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ ดังนั้น ในกรณีที่ทิศทางเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นได้เร็ว ก็อาจหนุนอุปสงค์สินค้าเกษตรจากจีนให้ฟื้นตัวได้มากกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ ต้องติดตามประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งเหตุการณ์ในยูเครน และพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ซึ่งอาจมีผลต่อสมดุลอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรทั่วโลก และท้ายที่สุดจะกระทบมายังรายได้เกษตรกรสุทธิของไทย

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐในปี 2566 ที่รายได้เกษตรกรสุทธิมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงแตกต่างกันนั้น คงต้องพิจารณามาตรการที่เฉพาะเจาะจงในสินค้าเกษตรแต่ละชนิด โดยอาจเน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว มาตรการระยะสั้นที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศต่อสินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อประคองราคา ยังมีความจำเป็น ซึ่งอาจได้แก่ แนวทางการเพิ่มความต้องการใช้สินค้าเกษตรในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำในจังหวะที่อุปทานสินค้าเกษตรกำลังทยอยออกสู่ตลาด เช่น การเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราในการซ่อมแซมถนน/สร้างถนน/สร้างฝาย การเพิ่มความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน การสนับสนุนให้ร้านอาหารซื้อสินค้าเกษตรที่สั่งตรงจากฟาร์มมากขึ้นและส่งเสริมช่องทางแพลตฟอร์มฟาร์มออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น รวมไปถึงการให้เงินเยียวยาแก่เกษตรกรในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม และการสนับสนุนเงิน/จัดหาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ก็อาจช่วยหนุนราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรไม่ให้เผชิญความยากลำบากมากนัก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร รวมไปถึงการให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินเพื่อลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากพอต่อการดำรงชีพได้ ขณะเดียวกัน มาตรการเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยกระดับไปสู่สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตอบรับกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญต่อ ESG และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็คงต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน