TMI ปักหมุด ขาย “คาร์บอนเครดิต” ตุลาคมนี้ ดันรายได้-กำไรโตโดดเด่น

Categories : Update News, ESG News

Public : 09/12/2023

TMI ดีเดย์ ขายคาร์บอนเครดิตในมือ 92,000 ตัน/ปี ของโรงไฟฟ้าชีวภาพ จ.สุพรรณบุรี เดือนตุลาคม 2566 ตามมาตรการบังคับใช้ของ EU เก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะมีผลในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเปิดทางเจรจาขายให้กับกองทุนต่างประเทศทันที หวังดันรายได้และกำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เล็งขยายธุรกิจขายคาร์บอนเครดิตจากโรงไฟฟ้าชีวภาพทั้ง 3 แห่ง พร้อมวางแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 3-5 เมกะวัตต์ ดันมาร์จิ้นสูงและการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

 

นายธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMI ผู้ประกอบธุรกิจออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการลงทุนในธุรกิจขายคาร์บอนเครดิต หลังจากโรงไฟฟ้าชีวภาพ แห่งที่ 3 จังหวัดสุพรรณบุรี ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีกำลังผลิตกว่า 90% ของกำลังการผลิตติดตั้ง นับเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Environmental Research Institute Chulalongkorn University) ประเมินผลตามมาตรฐาน Gold Standard ได้คำนวณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ 92,000 ตันต่อปี

       

ทั้งนี้ TMI ได้กำหนดยุทธศาสตร์แผนธุรกิจครึ่งปีหลัง ยกเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EU) มีมาตรการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ "Net Zero" ในปี 2050 โดยบรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) กำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Carbon Tax) ที่นำเข้ามาในกลุ่มประเทศ EU เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ TMI ได้รับอานิสงส์จากข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รอการบังคับใช้ โดยจะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศที่เป็นคู่ค้ากับ EU ต้องซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อไปชดเชยอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลทำให้ความต้องการในการซื้อคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีราคาสูงตามไปด้วย

 

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน TMI ได้เปิดรับการเจรจากับกองทุนต่างประเทศ ทั้งจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และยุโรป เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ที่มี 92,000 ตัน เบื้องต้นมีหลายกองทุนสนใจและต้องการซื้อ เพราะเป็นข้อกำหนดของกองทุนว่าจะต้องมีการลงทุนในบริษัทที่มีการขายคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานกองทุนโลก คาดว่าภายในไตรมาส 4/2566 น่าจะเซ็นสัญญาขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาตกลงราคา โดยช่วงนี้จะขายเป็นสัญญาระยะสั้น 1-2 ปี หลังจากนั้นค่อยเซ็นสัญญาระยะยาว

"TMI พร้อมเปิดกว้างที่จะซื้อขายโดยตรงกับบริษัทที่มีความจำเป็นต้องใช้คาร์บอนเครดิต เพื่อไปชดเชย Carbon TAX หากตกลงราคากันได้ ก็พร้อมขายทันที โดยขอยกตัวอย่าง Carbon TAX ที่สิงคโปร์ ราคาซื้อขายอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/หน่วย ถ้าเราขายได้ที่ราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีรายได้เกือบ 200 ล้าน ส่วนในยุโรป ราคาประมาณ 30-50 ยูโร/หน่วย หากเราขายคาร์บอนเครดิตได้ทั้งหมดตามที่มี จะส่งผลดีต่อรายได้และกำไรของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ" นายธีระชัย กล่าว

 

สำหรับในปี 2567 บริษัทฯ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยจะผลักดันให้โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัทฯ อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังการผลิต 1.4 เมกะวัตต์ จังหวัดชุมพร และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเมื่อรวมกับโรงที่ 3 จะขายคาร์บอนเครติดได้ประมาณ 13,000-15,000 ตันต่อปี ภายในปลายปี 2567 และเตรียมแผนขยายโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 3-5 เมกะวัตต์ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต