หอการค้าฯ มอบรางวัลสำเภา-นาวาทอง ประจำปี 2566 ยกสุดยอด 40 หน่วยงานรัฐ

Categories : Update News, PR News

Public : 09/13/2023

หอการค้าฯ มอบรางวัลสำเภา-นาวาทอง ประจำปี 2566 ยกสุดยอด 40 หน่วยงานรัฐ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล ส่งผลให้เกิดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อยู่ในเส้นทาง 30 ปรับดีขึ้น

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ภายใต้ชื่อ รางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ประจำปี 2566 เป็นรางวัลที่ภาคเอกชนจัดขึ้นเพื่อเชิดชูและให้กำลังใจหน่วยงานภาครัฐที่ปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล ซึ่งถือเป็นการจัดพิธีมอบรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวแสดงความยินดีและเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้

“สำเภา-นาวาทอง” จัดขั้นครั้งแรกเมื่อปี 2565 เป็นรางวัลหอการค้าไทยในฐานะภาคเอกชน เพื่อเชิดชูและยกย่องแก่หน่วยงานภาครัฐ ที่ดำเนินการปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพและถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐของสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งหอการค้าไทย ได้มีการพิจารณารางวัลอย่างรอบด้าน มีความเที่ยงตรง สามารถวัดและประเมินผลได้อย่างชัดเจน จนสามารถผลักดันการปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ

       

ทั้งนี้จากเดิมที่มีการศึกษาว่าจะต้องทำการกิโยตินกฎหมายจำนวน 1,094 กระบวนงาน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วสามารถดำเนินการได้ 938 กระบวนงาน และมีความคืบหน้าเพิ่มเติมเป็น 957 กระบวนงาน ในปีนี้ ซึ่งหากรวมกับที่ก.พ.ร. ดำเนินการเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกภาครัฐฯ อีก 194 กระบวนงาน ก็จะทำให้ปัจจุบันภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยกันปลดล็อกไปแล้วกว่า 1,151 กระบวนงาน ตอกย้ำความสำเร็จจากความพยายามและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในช่วงที่ผ่านมาจนทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ที่จัดทำโดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ในปี 2566 ปรับดีขึ้นมาเป็นลำดับที่ 30 จากอันดับที่ 33 ในปี 2565 โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ เพิ่มขึ้น 7 อันดับ มาอยู่ที่ 24 ในปีนี้ จากการบริหารภาครัฐและกฎหมายธุรกิจที่ดีขึ้น สอดคล้องกับด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น 7 อันดับมาอยู่ที่ 23 จากปัจจัยประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นเช่นกัน

 

สำหรับปี 2566 ถือเป็นโอกาสครบรอบ 90 ปี หอการค้าไทย ภายใต้แนวทาง Connect Competitive Sustainable เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ หอการค้าฯยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้ภาครัฐปลดล็อกกฎ ระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ให้อำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน

 

สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในการสร้างและขยายโอกาสให้กับประชาชนผ่านโยบายการเปลี่ยนบทบาทของรัฐที่เคยเป็นผู้กำกับดูแลที่เต็มไปด้วยกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ให้เป็นผู้สนับสนุนที่ปลดล็อกข้อจำกัดของประชาชน สร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้และเจริญเติบโต อาทิ การยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น ซึ่งหอการค้าฯเชื่อว่ารางวัลนี้จะมีส่วนจุดประกายการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน สร้าง Ecosystem เพื่อให้เกิด Ease of Doing Business และ Ease of Investment อย่างแท้จริง นายสนั่นกล่าว

 

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง Digital Disruption ว่า ก.พ.ร. ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับและพัฒนาการให้บริการภาครัฐไปสู่การเป็น Digital Government ที่สามารถตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสและลดดุลพินิจในการอนุมัติขั้นตอนต่าง ๆ ตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่หน่วยงานราชการสามารถอำนวยความสะดวกในการให้บริการและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและประชาชน นอกจากนี้ ก.พ.ร. ยังได้มีการถ่ายโอนภารกิจที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนเองให้กับภาคเอกชนมีส่วนในการดำเนินงาน ซึ่งภาคเอกชนมีความรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากกว่า

 

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองรางวัลฯ กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพหรือขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานภาครัฐ การจัดงานมอบรางวัล “สำเภา-นาวาทอง”ประจำปี 2566 ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ชี้แนะและสนับสนุนข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

 

โดยใช้เกณฑ์และมาตรฐานในการประเมินการตัดสินจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการใช้บริการ และมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำหน้าที่ประเมินวิเคราะห์ ใน 3 มิติสำคัญประกอบด้วย ประสิทธิภาพของกระบวนงาน การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล และสุดท้ายผลสัมฤทธิ์ด้านการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล การอำนวยความสะดวกและการปรับปรุงการให้บริการ ตลอดจนส่งเสริม e-Government ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

 

โดยในปีนี้มีการขยายรางวัลไปยังหน่วยงานระดับภูมิภาค รวมเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลหน่วยงานระดับกระทรวง จำนวน 6 หน่วยงาน 2) รางวัลหน่วยงานระดับกรมจำนวน 16 หน่วยงาน 3) รางวัลหน่วยงานระดับกระบวนงาน จำนวน 5 หน่วยงาน และ 4) รางวัลหน่วยงานระดับภูมิภาค จำนวน 13 หน่วยงาน