สมาคมประกันชีวิตไทยแนะประกันแบบไหนลดหย่อนภาษีได้บ้าง
Categories : Update News, Insurance
Public : 11/30/2023นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีเช่นนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการวางแผนภาษีของประชาชนผู้มีเงินได้ รวมถึงหลายๆ ภาคธุรกิจทางการเงินต่างก็ให้ความสำคัญนำเสนอสินค้าที่ใช้ในการลดหย่อนภาษีให้ประชาชนได้เลือกสรรอย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตและการลงทุนของแต่ละบุคคล ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของชีวิตและสุขภาพ ตลอดจนการเงิน การลงทุน เป็นเครื่องมือชดเชยรายได้ในยามชรา ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตหลายประเภท อาทิประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตควบการลงทุน ประกันภัยสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกอบกับการที่ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการออมเงินระยะยาวเพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับอนาคต
อีกทั้งยังช่วยลดภาระให้ตนเองและครอบครัวรวมถึงสังคมโดยกรมสรรพกรกำหนดให้สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนที่ได้รับจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีประกันภัยสุขภาพสามารถนำเบี้ยที่ชำระแล้วมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนผู้ที่มีประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแล้วไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยทั้งนี้เงินลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีประกันภัยสุขภาพของบิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าบิดามารดาของผู้มีเงินได้ จะต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำทุกท่านว่าอย่าลืมว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นเพียงผลประโยชน์เพิ่มเติมเท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของการมีประกันชีวิต ประกันภัยสุขภาพ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ คือเรื่องความคุ้มครองและบริหารความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีการทำประกันดังกล่าวข้างต้นไว้แล้วอย่าลืมแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอม (consent) แก่บริษัทประกันชีวิตเพื่อนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันชีวิตให้กรมสรรพากรตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นผู้เอาประกันภัยจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์นั้นได้ กรณีผู้ที่มีกรมธรรม์หลายฉบับ ก็ต้องให้ความยินยอม (consent) ทุกฉบับที่ผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว