"ปลาห้ามเลี้ยง" ยังมีส่งออก ... คำถามที่ต้องหาคำตอบ
“ปลาหมอคางดำ” ที่มีข้อมูลการส่งออกเป็นปลาสวยงาม โดย 11 บริษัทผู้ส่งออก ที่ต่างให้ข้อมูลว่า เป็นการส่งออกปลาหมอสีมาลาวี และ ปลาหมอโทรเฟียส โดยกรมประมงออกมายืนยันว่า จากการตรวจสอบเอกสาร เป็นการกรอกข้อมูลผิดของ เจ้าหน้าที่ชิปปิ้ง ที่ใส่ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron และ ชื่อสามัญ Blackchin tilapia แต่ชื่อไทย เป็นปลาหมอเทศข้างลาย ซึ่งก็ไม่ตรงกัน ขณะที่ 1 ในบริษัทที่ส่งออกให้ข้อมูลว่า เป็นการส่งออก ลูกปลานิล คำตอบนี่ยิ่งทำให้เกิดความสับสน เพราะปลานิลไม่จัดอยู่ในกลุ่มปลาสวยงาม จนไม่อาจเชื่อได้ว่า ทั้งหมดนี้จะเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการกรอกข้อมูลเท่านั้น
กลายเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาการกำกับดูแลของภาครัฐ ที่เต็มไปด้วยจุดบกพร่อง ขาดการตรวจติดตาม ซึ่งหากไม่เกิดวิกฤตการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ นำไปสู่การสืบหาข้อมูล เพื่อเสาะหาต้นตอจนพบว่า มีเบาะแสการส่งออกปลาหมอคางดำในระหว่างปี 2556-2559 จนมาลงเอยที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งลงข้อมูลผิด ซึ่งเป็นการกรอกผิดทั้ง 11 บริษัท และผิดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม จนกระทั่ง ภาครัฐออกกฎหมายห้ามเพาะเลี้ยง ในปี 2561 ยอดการส่งออกก็หายไป โดยไม่ได้มีการชี้แจงว่า ปลาที่ส่งออกไปแล้วใส่ชื่อผิดแท้จริงเป็นปลาชนิดใด ได้ตรวจสอบไปจนถึงปลายทางหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่า เป็นปลาอะไร แล้วนำมาแก้ไขข้อมูลในระบบให้ถูกต้อง
ยิ่งไปกว่านั้น ยังขาดการติดตามตรวจการส่งออกปลาที่ห้ามเพาะเลี้ยงชนิดอื่นๆ เมื่ออ้างอิงจาก เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย เพราะจากช้อมูล สถิติการส่งออกสัตว์น้ำ พบว่า แม้มีประกาศห้ามเพาะเลี้ยง แต่ยังมีการส่งออกสัตว์น้ำเหล่านี้อยู่ ทั้ง ปลาเทราท์สายรุ้ง ปลาเทราท์สีน้ำตาล ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
แล้วปลาเหล่านี้มาจากที่ไหน ภาครัฐได้เข้าไปตรวจสอบหรือไม่ และปล่อยให้มีการส่งออกได้อย่างไร ทั้งที่ มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้ามเพาะเลี้ยง ปลาเหล่านี้ เพราะต่างเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่พร้อมรุกราน และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ของไทย เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุในวันใดวันหนึ่ง
ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด กลายเป็นคำถามกลับไปที่ภาครัฐว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วหรือยัง ปลาห้ามเพาะเลี้ยง แต่ปล่อยให้มีการส่งออกได้เกือบทุกชนิดที่มีประกาศ ปลาเหล่านั้นมาจากไหน นำเข้ามาถูกต้องหรือไม่ เพาะเลี้ยงและส่งออกได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย
หรือต้องให้เกิดกระแสสังคมหรือผลกระทบขึ้นก่อน ถึงจะลุกขึ้นมาตรวจสอบเหมือนกับกรณีของปลาหมอคางดำ ที่อีรุงตุงนังมาจนถึงวันนี้ แล้วใช้ข้ออ้างว่า กรอกข้อมูลชื่อผิดอีกครั้งหรือไม่ หรือหาเหตุผลใดๆ มารองรับแทนการยอมรับความบกพร่องในกระบวนการทำงานของรัฐ ที่หากกำกับดูแลตรวจสอบอย่างเข้มงวดตั้งแต่แรก ก็คงไม่เกิดปัญหา จนต้องมาหาทางแก้ไขแบบด่วนๆ เหมือนกับทุกวันนี้....
ผู้เขียน : วิภาวี บุตรสาร นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ