11 บริษัทส่งออกปลาหมอคางดำ … กับข้อข้องใจที่ไร้การตรวจสอบ

Categories : Update News

Public : 08/15/2024
 

ผู้เขียน : สมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ

สัปดาห์ที่ผ่านมา 5 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทย เฉียน หวู่ จำกัด 2.บริษัท แอดวานซ์ อควาติก จำกัด 3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมิตรา อแควเรียม 4.บริษัท พี.แอนด์.พี อควาเรียม เวิลด์ เทรดดิ้ง จำกัด และ 5.บริษัท เอเชีย อะควาติคส์ จำกัด ซึ่งมีรายชื่อเป็นบริษัทเอกชนที่สำแดงการส่งออกปลาคางดำ จากจำนวน 11 บริษัท เข้าชี้แจงพร้อมนำเอกสารบางส่วนมาแสดงต่อ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า เป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน เนื่องจากชิปปิ้งกรอกชื่อปลาผิด แต่กลับทำให้ประเด็นการส่งออกปลาหมอคางดำ ยังพบข้อพิรุธและกลายเป็นสิ่งที่สังคมตั้งคำถาม

ยิ่งเมื่อเห็นการชี้แจงของกรมประมง ที่ทำเอกสารชี้แจง กมธ.อว. ว่าเคยมีการตรวจสอบการส่งออกในปี 2560 พบว่าการกรอกข้อมูลในระบบมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ในการกรอกข้อมูลการส่งออก 212 ครั้ง จากการส่งออกปลาสวยงามในช่วงดังกล่าวกว่า 24,000 ครั้ง

แต่กลับไม่ได้มีการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่า ปลาที่ส่งออกเป็นปลาชนิดใดกันแน่ แม้ชื่อภาษาไทยอาจถูกเปลี่ยนหลายครั้งจาก ปลานิลในปี 2549 มาเป็นปลาหมอเทศข้างลาย ในปี 2553 ก่อนเปลี่ยนเป็น ปลาหมอคางดำ ในปี 2560 แต่การส่งออกที่ต้องระบุชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญของปลานั้น กลับระบุเป็น ชื่อ Sarotherodon melanotheron และ Blackchin tilapia ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญ ของปลาหมอคางดำทุกครั้ง

เท่ากับว่าตลอด 4 ปี (พ.ศ. 2556-2559) ชิปปิ้งมีการกรอกข้อมูลผิดทุกครั้ง ทุกรอบการส่งออก ครบทุกบริษัทที่ส่งออก โดยไม่เคยได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องสักครั้ง และข้อมูลยังถูกนำเผยแพร่บนเว็ปไซต์ของกรมประมง จึงเกิดคำถามว่า ปล่อยให้ผิดพลาดเช่นนี้ได้อย่างไร การส่งออกในลักษณะปลาสวยงามมีชีวิต 326,240 ตัว เฉลี่ยปีละประมาณ 80,000 ตัว ส่งออกไปยัง 17 ประเทศ ปริมาณปลาจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบเคยตั้งข้อสงสัยหรือไม่ ว่า เอาปลามาจากที่ไหน? เพาะเลี้ยงที่ใด? มีระบบการดูแลจัดการป้องกันไม่ให้ปลาหลุดออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือไม่? และปล่อยให้ส่งออกไปได้อย่างไร? และเมื่อเลิกส่งออกแล้ว จัดการทำลายปลาเหล่านี้อย่างถูกต้องหรือไม่? รวมถึง พรก.ประมง ปี 2558 ที่ระบุว่า ต้องแจ้งแหล่งที่มาของปลาส่งออก ก็เกิดคำถามว่า บริษัทได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือไม่? ถ้าไม่ได้แจ้งแล้วส่งออกไปได้อย่างไร?

เกิดเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใด จึงไม่มีการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่นมาเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามส่งออกเลย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีโอกาสเป็นสาเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำเช่นกัน เพราะหากเชื่อว่า มีการกรอกชื่อผิดเพื่อส่งออก ก็มีโอกาสหลบเลี่ยงนำเข้าโดยชื่ออื่นด้วยก็ได้

นั่นเพราะการลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่น ถือเป็นปัญหาที่มีอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข ยืนยันจากรายงานการพบ ปลาหมอบัตเตอร์ ในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในพันธุ์ปลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป็น สัตว์นำห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ เพาะเลี้ยง มาตั้งแต่ปี 2561 นี่คือตัวอย่างของปลาต่างถิ่นห้ามเพาะเลี้ยง ที่ไม่มีรายงานการนำเข้า แต่กำลังสร้างปัญหารุกรานระบบนิเวศเช่นกัน

แม้ว่าทั้ง 11 บริษัท จะปฏิเสธว่าไม่มีการส่งออกปลาหมอคางดำ แต่ก็จำเป็นต้องหาข้อพิสูจน์ให้สังคมสิ้นสงสัยว่า ไม่เกี่ยวข้องอย่างไร และนำปลาที่ส่งออกเหล่านั้นมาจากที่ใด รวมถึงการขอความร่วมมือจากประเทศปลายทาง เพื่อยืนยันว่า ปลาที่ได้รับเป็นชนิดใด ใช้ปลาหมอคางดำหรือไม่ แหล่งที่มาหรือสถานที่เพาะเลี้ยงปลาเพื่อการส่งออกเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ตัวแทน 5 บริษัท เข้าพบคณะกรรมธิการแล้วแจ้งว่า กรอกชื่อผิด เพียงเท่านี้ก็เชื่อคำชี้แจง โดยไร้การพิสูจน์ใดๆ ต่างจากบริษัทเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง ที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกประเด็น

ขณะที่กรมประมง ไม่พยายามตรวจสอบผู้ส่งออกทั้ง 11 บริษัทเลย ทั้งที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยที่ยังไม่กระจ่าง ซึ่งการปล่อยให้เป็นเช่นนี้ แล้วพุ่งประเด็นหาต้นตอไปที่บริษัทเอกชนเป็นหลัก ก็อาจอนุมานได้ว่า เป็นการปกปิดจุดบกพร่องในกระบวนการทำงาน ทั้งการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นมาเลี้ยงหรือค้าขาย โดยเฉพาะในตลาดปลาสวยงาม ที่อาจจับมือใครดมได้ยาก นอกจากนี้ยังมีข้อบกพร่องในแง่ของการไม่ปฏิบัติตาม พรก.ประมง 2558 เพราะหากบริษัทไม่ได้แจ้งที่มาของสัตว์น้ำ กรมประมงก็ไม่ควรอนุญาตให้ส่งออก หรือการกรอกข้อมูลผิดตลอด 4 ปี ที่แสดงว่า เอกสารขออนุญาตส่งออก กับเอกสารกำกับสินค้าไม่ตรงกัน ถือเป็นการทำเอกสารไม่ถูกต้อง และมีความผิดด้วย ดังนั้นเรื่องการส่งออกปลานี้จะต้องนำมาศึกษาและหาหลักฐานเพื่อยืนยันร่วมด้วยเช่นกัน

ตราบใดที่ ผู้ส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัท ยังไม่ได้รับการตรวจและพิสูจน์ข้อสงสัยต่างๆดังกล่าวข้างต้น สังคมก็ยังคงตั้งคำถาม เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้กลายเป็นบรรทัดฐานในการแก้ปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานให้หมดไป...

ผู้เขียน : สมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ