“ปลาหมอคางดำ” เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างระดมสรรพกำลัง ความรู้ ความสามารถ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
Categories : Update News
Public : 08/20/2024ดูความคืบหน้า CPF เร่งปราบปลาหมอคางดำ ดัน “5 โครงการบูรณาการความร่วมมือ” ต่อเนื่อง
“ปลาหมอคางดำ” เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างระดมสรรพกำลัง ความรู้ ความสามารถ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้เดินหน้า 5โครงการเชิงรุกบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรมประมง โรงงานปลาป่น และสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด ซึ่งผลการดำเนินงานเริ่มปรากฎผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ไปดูกันว่าแต่ละโครงการมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
โครงการที่ 1. ความร่วมมือกับกรมประมง สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่พบปลาชนิดนี้ ตั้งเป้ารับซื้อจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นปลาป่น ภายใต้ความร่วมมือกับโรงงานปลาป่น บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร โดยรับซื้อปลาจากชาวประมงในสมุทรสาครไปแล้วมากกว่า 6 แสนกิโลกรัม (605,860 กิโลกรัม) พร้อมขยายจุดรับซื้อในอีกหลายจังหวัด
2. โครงการสนับสนุนปลานักล่า จำนวน 200,000 ตัว เพื่อปล่อยสู่ลงแหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง ปัจจุบันบริษัทได้ส่งมอบปลากะพงขาวปลานักล่าไปแล้ว 54,000 ตัว แก่ประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี จากการดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยืนยันว่าสามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 800,000 ตัว และชาวประมงย้ำว่าจำนวนปลาหมอคางดำในพื้นที่ลดลงมากถึง 80%
3. โครงการสนับสนุนภาครัฐ ชุมชน และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา โดยร่วมกับกรมประมงเปิดปฏิบัติการ “ลงแขกลงคลอง” ใน 6 จังหวัด สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม และฉะเชิงเทรา โดยบริษัทสนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน อาหารและน้ำดื่ม พร้อมชยายความร่วมมือสนับสนุนโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำถังพลาสติกใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 200 ใบ จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ มอบแก่สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด เพื่อส่งต่อให้กับการยางแห่งประเทศไทย สำหรับใช้เป็นถังบรรจุน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ
4. โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจร่วมดำเนินการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.เกษตรฯ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่อง
5. โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว โดย สจล. และ ม.เกษตรฯ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และบริษัทยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม ล่าสุดขยายความร่วมมือ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในวันนี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหมอคางดำอย่างบูรณาการ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถจัดการกับปัญหานี้อย่างยั่งยืน.