คมนาคมกางเป้ารถเมล์ EV ใน 1 ปี 6 เดือน ไทย สมายล์ กรุ๊ป ลงทุนเพิ่ม 2.4 หมื่นล้านจัดหารถเพิ่ม 1,850 คัน

Categories : Update News, ESG News

Public : 01/30/2023

"ศักดิ์สยาม”  เปิดเดินรถเมล์ EV สาย 38, 48 ลั่นเป้าหมายใน มิ.ย. 66 เพิ่มอีก 1,850 คัน วิ่ง 122 เส้นทาง และครบ 7,000 คันทั้งระบบไม่เกิน 1 ปีครึ่ง “ไทย สมายล์ บัส” ยันพร้อมทุ่ม 2.4 หมื่นล้านเร่งผลิต

วันที่ 30 ม.ค. 2566 ณ ไทย สมายล์ บัส ศูนย์รามคำแหง 2 กรุงเทพมหานคร นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการเดินรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย 38 มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสาย 48 มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา-ท่าช้าง ภายใต้แนวคิด “Thai Smile Change For The Better” เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า โดยเป็นเส้นทางที่บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ได้รับสัมปทานจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การเปิดเดินรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย 38 และสาย 48 นี้ถือเป็นปฐมฤกษ์ของปี 2566 จากปี 2565 ที่ได้เริ่มนำรถเมล์ไฟฟ้า หรือรถเมล์ EV และบรรลุเป้าหมาย โดยบริษัท ไทยสมายล์ บัส สามารถบรรจุรถเมล์ EV ให้บริการแล้วกว่า 1,250 คัน ใน 77 เส้นทางที่ได้รับสัมปทาน

ในปี 2566 กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายจะสามารถผลักดันให้มีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการอีก 1,850 คัน เป็นเส้นทางของผู้ประกอบการเดิมอีก 45 เส้นทาง และเส้นทางที่ประชาชนนิยมใช้บริการ โดยรถร่วมเอกชนฯ มีจำนวน 122 เส้นทาง เพื่อขยายการบริการรถโดยสารสาธารณะที่มีคุณภาพ ใช้พลังงานไฟฟ้า รวม 3,100 คัน

ทางบริษัท ไทย สมายล์ บัส กรุ๊ป ได้ร่วมมือในการผลิต ทราบว่าบริษัทฯ มีความสามารถที่จะบรรจุรถได้ครบทั้ง 1,850 คันภายในเดือน มิ.ย. 2566 หรือใช้เวลาแค่ครึ่งปีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้เตรียมรถเพิ่มอีก 900 คัน เพื่อเป็นรถสำรองรถ สำหรับวิ่งในกรณีรถขาดระยะ หรือรถเสีย หรือรถเข้าซ่อมบำรุง เพื่อทำให้มีปริมาณรถให้บริการเต็มจำนวนตามเงื่อนไขสัมปทานตลอดเวลา

“จากการติดตามการให้บริการรถเมล์ EV พบว่าบริการมีความสะดวก รถติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกคน รวมถึงผู้พิการ ส่วนความปลอดภัย มีกล้อง CCTV ภายในรถ ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเรื่องไม่ปลอดภัยจากรถที่ บริษัท ไทยสมายล์ บัส ให้บริการ จึงถือว่ามีความปลอดภัยสูง หลังจากนี้จะต้องเน้นในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบมากขึ้น” นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้ตั้งเป้าหมายในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 ปี หรือภายในไม่เกิน 1 ปีครึ่งจากนี้ โดยทั้งระบบมีประมาณ 5,000-7,000 คัน

ในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดำเนินการ 107 เส้นทาง จะต้องจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพื่อปรับเปลี่ยนรถเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 2,500 คัน ในปี 2566 คาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณ 10% หรือประมาณ 250 คัน ทั้งนี้ การจัดหาของ ขสมก.ค่อนข้างล่าช้า เพราะติดขัดเรื่องระเบียบพัสดุฯ จึงไม่เหมือนเอกชนที่ดำเนินการได้รวดเร็วกว่า ซึ่งหาก ขสมก.ล่าช้ามากๆ ก็มีวิธีที่จะช่วยกันโดยบูรณาการกับเอกชนได้

นอกจากนี้ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ยังได้จัดทำรูปแบบการชำระค่าโดยสารราคาพิเศษผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตร HOP CARD) เพื่อช่วยลดรายจ่ายในการเดินทาง โดยผู้โดยสารที่เดินทางเฉพาะทางรถโดยสารจะคิดค่าโดยสารตามจริงแต่ไม่เกินวันละ 40 บาท แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยว และสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางในรูปแบบรถต่อเรือจะคิดค่าโดยสารตามจริงแต่ไม่เกินวันละ 50 บาท แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยวอีกด้วย และสามารถนำระบบ AI มาช่วยคำนวณในการจัดสรรการเดินรถให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารและเวลา ไม่ให้เกิดปัญหารถขาดระยะ ผู้โดยสารรอรถนาน เพื่อให้การดำเนินการให้บริการที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าในรถสาธารณะ ซึ่งบัตร HOP CARD สามารถนำไปใช้บริการร่วมกับ เรือ (EV on Boat) ซึ่งขณะนี้เอกชนให้บริการแล้วกว่า 50 ลำ เป้าหมายจำนวน 61 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ 40,000 คน/วัน ซึ่งจะให้มีการประชาสัมพันธ์เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทางบกกับทางน้ำอย่างไร้รอยต่อ ส่วนทางราง กระทรวงฯ จะศึกษาในการทำค่าโดยสารไม่เกิน 40 บาทเช่นกัน

นายชัยรัตน์ แสงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายปฏิบัติการ บริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทางไทย สมายล์ กรุ๊ป มี 2 เป้าหมายสำคัญในปี 2566 คือ 1. การผนึกกำลังกับบริษัท สมาร์ท บัส จำกัด ในการเปลี่ยนรถที่ใช้ก๊าซ NGV ปัจจุบัน เป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในจำนวน 1,850 คัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

2. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทางบริษัทจะยกเลิกระบบตั๋วโดยสารแบบกระดาษ โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบ Hop Card ซึ่งสามารถใช้แพกเกจ 2 แพกเกจของทางบริษัทได้คือ 1. แพกเกจเหมาจ่ายค่าโดยสารไม่เกิน 40 บาทต่อวัน ไม่จำกัดเที่ยว ในการโดยสารรถโดยสารของกลุ่ม ซึ่งมีให้บริการกว่า 122 เส้นทาง และแพกเกจเหมาจ่าย 50 บาทต่อวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ในการโดยสารรถโดยสารและเรือโดยสารของกลุ่มบริษัท