EXIM BANK จับมือเวียดคอมแบงก์ สนับสนุนการค้าการลงทุนไทย-เวียดนาม คาดการณ์เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนไทย-เวียดนาม 10,000 ลบ. ในปี 2566

Categories : Update News, Finance

Public : 11/17/2022

EXIM BANK ร่วมมือกับเวียดคอมแบงก์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเวียดนามนำเข้าสินค้าหรือบริการของไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงสนับสนุนนักลงทุนไทยในเวียดนามให้มีวงเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจเพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-เวียดนาม โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนไทย-เวียดนามได้ประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2566 และเติบโต 10% ต่อปีในระยะถัดไป นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาสนับสนุนการค้าและการลงทุน ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และเวียดคอมแบงก์ (Vietcombank) โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายเหวียน แทงห์ ตุ่ง รักษาการกรรมการผู้จัดการ เวียดคอมแบงก์ เป็นผู้ลงนาม ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมแสดงความยินดีกับความร่วมมือครั้งนี้ระหว่าง EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังที่มีภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศกับเวียดคอมแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐแห่งแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการให้บริการสินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้าและธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ครอบคลุมความร่วมมือระหว่างทั้งสองสถาบันการเงินในการให้วงเงินสินเชื่อระหว่างกัน (Reciprocal Credit Lines) แนะนำผู้ประกอบการระหว่างกัน (Customer Referrals) ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ อาทิ การเป็นตัวแทนรับหลักประกัน (Security Agent) การเป็นตัวแทนในการเบิกจ่ายเงินกู้ (Disbursement Agent) เป็นการสนับสนุนบริการครบวงจรทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินสำหรับผู้ประกอบการไทย-เวียดนาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเวียดนามนำเข้าสินค้าหรือบริการจากไทยและผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนหรือร่วมทุนระหว่างไทยกับเวียดนามเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้มูลค่าการค้าและการลงทุนไทย-เวียดนามเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2566 และเติบโต 10% ต่อปีในระยะถัดไป

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า EXIM BANK สานพลังกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการทำงานร่วมกับทีมประเทศไทย ภายใต้บทบาทของ EXIM BANK ในการเป็น “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” เดินหน้าสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในเวทีโลก โดยมองเห็นศักยภาพของเวียดนาม หนึ่งในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 จะเติบโตถึง 6.2% และเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 6.6% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเวียดนามมีความตกลงการค้าเสรี (FTAs) มากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ (FDI Net Inflow) ที่ไหลเข้าเวียดนามขยายตัวเฉลี่ย 7.9% ต่อปีในปี 2555-2564 เทียบกับ FDI โลกที่ขยายตัวเพียง 3.3% ผู้ประกอบการไทยจึงมีโอกาสอีกมากที่จะขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนเข้าไปยังตลาดเวียดนาม

ในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เวียดนามสูงราว 620,000 ล้านบาท นับเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่มีบทบาทต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก มูลค่าส่งออกจากไทยไปเวียดนามเติบโตเกือบเท่าตัว ด้านการลงทุน ไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ในเวียดนาม ด้วยมูลค่าลงทุนสะสมราว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 470,000 ล้านบาท การลงทุนของไทยในเวียดนามกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม พลังงาน อาหารแปรรูป ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์

“เวียดนามวันนี้ได้พลิกโฉมจากคู่แข่งกลายมาเป็นคู่ค้าคนสำคัญที่ไทยพึ่งพาและพึ่งพิงมากขึ้น EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่มากกว่าธนาคาร เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเชื่อมโยง Supply Chain การผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและตลาดโลกได้ โดยธุรกิจส่วนใหญ่ในเวียดนามมุ่งสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลไทยและประชาคมโลกสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ สร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และประชาคมโลก” ดร.รักษ์ กล่าว