ครม.ถอนร่างกฎหมายขายที่ดินให้ต่างชาติ !! สั่งวิเคราะห์ผลกระทบให้รอบด้าน

Categories : Update News

Public : 11/08/2022
 

 ครม.ไฟเขียวมหาดไทย ถอนร่างกฎกระทรวงต่างด้าวถือครองที่ดินในไทย ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน พร้อมสั่งเดินหน้าเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-ประชาชน เพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบรอบด้าน ก่อนชงครม.อนุมัติต่อไป

 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.มีการอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยถอนร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงที่มีต่อประเทศไทย พ.ศ.... ซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

ทั้งนี้ ในการประชุมครม.วันนี้ ที่มีมติให้ถอนร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้มีการพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการไปรับฟังความเห็นของหน่วยงานต่างๆ และรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ให้รอบด้าน และมีความถี่ถ้วนเพิ่มเติมในการออกกฎกระทรวงดังกล่าว

 

  “ที่เคยอนุมัติแล้ว ได้มีการเพิ่มเติมเรื่องความเข้มงวดในการคัดเลือก ใครจะเหมาะสมที่จะได้รับสิทธิในการเข้ามาใช้ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยตามกฎระเบียบ แต่ความรอบคอบเพิ่มเติมจึงถอนร่างออกไปก่อน และในปัจจุบัน ยังคงมีการบังคับใช้กฎกระทรวงซึ่งได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 45 ที่ใช้ในปัจจุบันไปก่อน จนกว่าจะรับฟังความเห็นและวิเคราะห์อย่างรอบด้าน และนำเสนอครม.พิจารณาอีกครั้งต่อไป”นายอนุชา กล่าว

 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง สู่ประเทศไทย พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่

 1) กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยและ 4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1 ไร่ ตาม ม.96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น