กองทุนประกันวินาศภัยอ่วมแบกหนี้ “เจอ จ่าย จบ” 6 หมื่นล. ตั้งเป้าปี’ 66 จ่ายหนี้ได้แค่ 6,000 ล. ชงคปภ.เก็บเงินสมทบจาก บ.ประกันเพิ่ม

Categories : Update News, Insurance

Public : 12/30/2022

นายชนะพล  มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ในปี 2566 ทางกองทุนฯ ได้ตั้งเป้าสำหรับการพิจารณาคำทวงหนี้ประกันโควิด "เจอ จ่าย จบ" ไว้ที่ 80,000 ถึง 100,000 คำขอ พร้อมกับเตรียมเงินเพื่อการจ่ายเจ้าหนี้ดังกล่าวไว้แล้วประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้วางแผนแก้ไขปัญหาให้กับเจ้าหนี้ประกันโควิด "เจอ จ่าย จบ" เพื่อให้มีเม็ดเงินเพิ่มไว้สำหรับการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ โดยได้เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อพิจารณาเพิ่มอัตราเงินนำส่งตามมาตรา 80/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย จากเดิมที่บริษัทประกันวินาศภัยนำส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราปีละ 0.25 จากเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ เพิ่มเป็น 0.5 ซึ่งจะเท่ากับอัตราที่กฎหมายกำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ คปภ. และเพื่อเป็นการเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคำทวงหนี้ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้แก่ประชาชนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม กองทุนฯ ได้เตรียมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการยื่นคำยืนยันสิทธิรับเงินผ่านระบบคุ้มครองสิทธิออนไลน์ เพื่อลดระยะเวลาและลดการใช้ทรัพยากรกระดาษผ่านแอพพลิเคชั่น LINE ซึ่งได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการในปี 2566 และคาดว่าจะทำให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารของกองทุนฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเข้าใจกระบวนการทำงานของกองทุนฯ เพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้การยืนยันสิทธิเพื่อขอรับเงินต่อกองทุนฯ ได้เพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาในกระบวนการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้

นายชนะพล กล่าวว่า ในปี 2565 กองทุนฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ เพิ่มอีก 2 บริษัท คือ บมจ. ไทยประกันภัย และ บมจ. อาคเนย์ประกันภัย โดยคำทวงหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกรมธรรม์โควิด “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งรวมกับที่กองทุนฯ ดำเนินการกับบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ เดิมอยู่ 6 บริษัท ทำให้ขณะนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยฯ ที่กองทุนฯ กำลังดำเนินการอยู่ถึง 8 บริษัท รวมจำนวนคำทวงหนี้ประมาณเกือบ 7 แสนคำขอ ยอดเงินขอรับชำระหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ ได้เร่งดำเนินการพิจารณาคำทวงหนี้และเร่งจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นการประกันภัยโควิด กองทุนฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขอเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจ RT-PCR ซึ่งในปี 2565 กองทุนฯ สามารถพิจารณาคำทวงหนี้ได้ถึง 27,792 คำขอ รวมเป็นเงินที่อนุมัติจ่ายกว่า 2.13 พันล้านบาท และได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ที่ยืนยันสิทธิรับเงินแล้ว 13,382 คำขอ เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ายังมีคำทวงหนี้อีกประมาณ 14,400 คำขอที่ยังไม่มายืนยันสิทธิเพื่อขอรับเงินกับกองทุนฯ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กองทุนฯ จึงได้สร้างระบบและประสานความร่วมมือไปยังสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการรับคำยืนยันสิทธิรับเงินให้แก่ประชาชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565