ก.ล.ต. ปรับหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัล และการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

Categories : Update News, Digital Asset

Public : 03/29/2023

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัล การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้กลไกการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเพียงพอและเหมาะสมสามารถคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาประเทศได้

 

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัล การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม สอดรับกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน โดยยังคงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตของตลาดทุนและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

สำนักงาน ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการที่ได้รับความเห็นชอบ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  (1) การกำกับดูแลการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) โดยยกเลิกการจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อย สำหรับโทเคนดิจิทัลที่มีอสังหาริมทรัพย์หรือกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอ้างอิง (real-estate backed ICO) และโทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (infra-backed ICO) จากเดิมที่มีการจำกัดจำนวนเงินลงทุนของผู้ลงทุน รายย่อยไม่เกินรายละ 300,000 บาทต่อการเสนอขายทุกกรณี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์

    (2) การทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจประเภทผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider) เพื่อสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องกัน ในลักษณะที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกันได้ หากเป็นบริษัทจดทะเบียนและบริษัทย่อยซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความพร้อมในการจัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้าโดยเทียบเคียงได้กับการเก็บทรัพย์สินทางการเงิน      มีความเชี่ยวชาญและความพร้อมในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ความเป็นอิสระ   ต่อกันที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

        (3) การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจอื่น ต้องขออนุญาตการประกอบธุรกิจอื่นจากสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

        (4) หลักเกณฑ์ด้านความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยปรับปรุงคุณสมบัติของ กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่ถูกปฏิเสธการให้ใบอนุญาต ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือขอถอนคำขอรับใบอนุญาต ในช่วงระยะเวลา6 เดือนก่อนวันที่ยื่นคำขอรับความเห็นชอบ หรือมีประวัติเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำผิดของบริษัท ที่เข้าข่ายประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ให้บริการผ่านผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มความน่าเชื่อถือของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว บนเว็บไซต์ สำนักงาน ก.ล.ต.  https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=893  ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: kanjanachat@sec.or.th jira-it@sec.or.th หรือ jirawut@sec.or.th จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2566