BCG Model in Action ต่อยอดธุรกิจด้วย BCG กับหลักสูตร ‘ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง’

Categories : Update News, ESG News

Public : 06/06/2023
   

เตรียมพบกับหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งให้ความรู้สู่การลงมือปฏิบัติด้านเศรษฐกิจ BCG หวังนำองค์ความรู้เศรษฐกิจใหม่ มาต่อยอดสร้างสรรค์ให้ภาคธุรกิจ ตั้งแต่รายใหญ่ เอสเอ็มอี เชื่อมสู่ธุรกิจชุมชน คับคั่งด้วยผู้เชี่ยวชาญ ซีอีโอจากองค์กรชั้นนำเมืองไทย พร้อมกรณีศึกษาองค์กรขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี ไปจนถึงระดับฐานราก

รายงานข่าวจากมูลนิธิสัมมาชีพแจ้งว่า มูลนิธิกำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมหลักสูตร ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 หรือ Leadership for Change # LFC13 ซึ่งจะเปิดอบรมในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเนื้อหาหลักสูตร LFC13 จะเน้นด้าน BCG Model in Action ซึ่งถือเป็นเทรนด์เศรษฐกิจที่ประเทศไทยและทั่วโลกต่างตระหนักดีว่า

นี่คือ แนวทางสร้างความยั่งยืนในทุกระดับตั้งแต่ ชุมชน สังคม ประเทศ และโลก

เศรษฐกิจ BCG เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนั้นหากธุรกิจต่างๆ ได้หาทาง “ต่อยอด” จากจุดแข็งดังกล่าว จะช่วยสร้างรายได้ที่กระจายทั่วประเทศ ตั้งแต่เศรษฐกิจระดับฐานรากไปจนถึงเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ประเมินกันว่า เศรษฐกิจ BCG จะเกี่ยวข้องกับการจ้างงานกว่า 16 ล้านคน จากจำนวนประชากร 70 กว่าล้านคนทั่วประเทศ ทั้งยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรโลกอย่างคุ้มค่า

สาระในหลักสูตร ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 13 นี้ จึงอัดแน่นด้วยเนื้อหาที่มุ่งเน้นด้าน BCG Economy Model in Action มีวิทยากรตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ นักวิชาการ เอสเอ็มอี ไปจนถึงปราชญ์ชาวบ้าน เรียกว่ามีตั้งแต่ด้านนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติของแต่ละองค์กร รวมทั้งยังมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านอีคอมเมิร์ซ การตลาดดิจิทัล เพื่อเสริมทัพธุรกิจให้ขยายตลาดสู่เวทีอินเตอร์

Module แรก คือ “วิถีสัมมาชีพ วิถี BCG” ผู้เข้าอบรมจะได้ทำความเข้าใจทั้งหลักคิดของ “สัมมาชีพ” และหลักการของ BCG ซึ่งผู้ที่วางหลักคิดด้านสัมมาชีพ คือ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ โดยหลักสัมมาชีพ คือ การประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม การมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้สังคมประกอบสัมมาชีพ ถือเป็นหนทางลดปัญหา ลดวิกฤติต่างๆ ได้ดี ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ก็ถือเป็นการทำธุรกิจบนแนวทางสู่ความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

วิทยากรใน Module นี้ นำโดย ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ จะปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมสัมมาชีพ-BCG” เป็นการให้ภาพรวมทั้งด้านสัมมาชีพ และ BCG ขณะที่ วิเชฐ  ตันติวานิช ประธานคณะกรรมการสถาบันผู้นำ–นำการเปลี่ยนแปลง จะปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Leadership for Change” ดร.สุนทร  คุณชัยมัง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  มหาวิทยาลัยรังสิต จะบรรยายหัวข้อ BCG Model กับโอกาสพัฒนาของฐานราก” เพื่อฉายภาพความสำเร็จขององค์กรที่เป็นแบบอย่างการทำงานด้าน BCG มาให้ทราบกัน

เอ็นนู   ซื่อสุวรรณ รองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เพื่อย้ำให้เห็นความสำคัญของการผนึกพลังกันทำงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จึงเขยื้อนงานใหญ่ให้สำเร็จได้ นอกจากนี้ยังมีหัวข้อ “สรรค์คุณค่า สู่มูลค่า” โดย หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระราชูปถัมภ์ องค์กรที่ทำงานโดยสร้างสรรค์มูลค่าสินค้าจากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นถิ่น และยังขยับสู่เศรษฐกิจ BCG อีกด้าน

เข้าสู่ Module 2 : Leadership for Social Change เซสชั่นที่ซีอีโอองค์กรชั้นนำของประเทศ จะนำประสบการณ์ขององค์กรขนาดใหญ่มาขับเคลื่อนทั้งงานธุรกิจ งานด้าน BCG และงานภาคสังคม ให้ควบคู่กันไปโดยประสบความสำเร็จ เช่น  อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. จะบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ถอดบทเรียน ปตท.ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จะบรรยายในหัวข้อ "ออมสินเพื่อสังคม" ก้าวที่ท้าทาย ปรับสู่ฐานราก มุ่งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ยั่งยืน”

ยังมีหัวข้อ Leadership for Social Change: Synergy in Change and Challenges ใช้ความต่าง สร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง” ที่ พอใจ พุกกะคุปต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Performance Pulse จำกัด จะมาเป็นโค้ชชี้แนะบรรดาผู้นำ ให้หลอมรวมความต่างของทุกองคาพยพทั้งใน- นอกองค์กร เพื่อจะได้ทำภารกิจให้สัมฤทธิ์ผล

ขณะที่ มงคล ลีลาธรรม  ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ จะต่อยอดความคิดและการปฏิบัติให้แก่เอสเอ็มอีในหัวข้อ “ขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ด้วยวิถีสัมมาชีพ-BCG”

Module 3  : Go Digital-Go Global Market  เป็นเนื้อหาเพื่อเติมเต็มด้านการส่งออก โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญทั้งด้านการส่งออกและด้านดิจิทัล คอมเมิร์ซ โดยวิทยากร ทั้งภาครัฐ เอกชน กระทั่งยักษ์อีคอมเมิร์ซโลกอย่างอาลีบาบา ก็มาร่วมให้ความรู้ นำโดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้ข้อมูล “ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ วิสาหกิจชุมชนของ Exim Bank” สุพิชฌาย์ องสุพันธ์กุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ Alibaba.com ประเทศไทย จะบรรยายในหัวข้อ “ลุยตลาดโลกด้วยอีคอมเมิร์ซ” อุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด กูรูการตลาดออนไลน์ จะถ่ายทอดประสบการณ์เชิงลึกในฐานะที่คลุกคลีด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งกว่า 15 ปีในประเด็น Social and Live Commerce ขายออนไลน์ให้ปัง”

ยังมีตัวอย่างเคสเด็ดๆ ไม่ว่าจะเป็น บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต พิธีกรและเจ้าของเพจ Chef book เชฟบุ๊ค คนรุ่นใหม่ที่สนใจสนับสนุนกิจการของชุมชน จะให้ความรู้ในหัวข้อ  Story Telling สร้างตัวตนบนดิจิทัล คอนเทนท์” และเอสเอ็มอีผู้สร้างปรากฎการณ์ทำธุรกิจส่งออกออนไลน์ จนสามารถโตสวนกระแสได้อย่าง นิตย์ชรี อุชชิน CEO และ Co Founder บริษัท ธัมบ์อินไทย จำกัด จะมาบอกเล่าในหัวข้อ “โตด้วยส่งออกออนไลน์”

Module 4 : Participative Social Contribution BCG Project Management  การเตรียมพร้อมสู่ปฏิบัติการในพื้นที่ มี ดร. นัชชา เทียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชา ผู้ประกอบการทางสังคมยุคดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จะให้ความรู้การทำแผนพัฒนาธุรกิจแก่ชุมชน เช่น จะวิเคราะห์โครงการ วางแผนทำงานร่วมกัน กระทั่งจะวางเป้าหมายหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ขณะที่ ปรารถนา หาญเมธี ผู้บริหารจากกลุ่ม RLG Group หรือรักลูก กรุ๊ป จำกัด  จะเติมมุมคิดเรื่องMindset วิถีทำงานชุมชน” เพื่อการทำงานที่ครบเครื่อง

ผู้บริหารจากเอกชนยักษ์ใหญ่อย่างไทยเบฟที่ขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคจะมาเล่าเรื่องราว ไทยเบฟ : ร่วมสร้างทุกห่วงโซ่ BCG สู่อาเซียน” โดย ต้องใจ  ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาบริษัท ซี.เอ.ไอ. จำกัด หรือ C asean

Module 5 เป็นช่วงเวลาสำหรับการลงพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งผู้เรียนจะได้ลงพื้นที่ทำงาน ณ “ศูนย์เรียนรู้ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” บ้านบึงหล่ม ต.ถาวรวัฒนา อ. บึงสามัคคี จ. กำแพงเพชร เพื่อร่วมกันหาแนวทางวางแผนพัฒนาพื้นที่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้นำ–นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 13 สมาชิกศูนย์เรียนรู้ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ

ในช่วง Module 6-7 ก็เข้มข้นต่อเนื่องด้วยประเด็น BCG โดย Module 6 : BCG Model : สานพลังสู่เศรษฐกิจชุมชน นำแนวทางปฏิบัติด้าน BCG ของทั้งภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชุมชน โดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฉายภาพการขับเคลื่อนด้านเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งเชื่อมโยงกับท้องถิ่นในหัวข้อ “อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ : เชื่อมอุตสาหกรรมสู่ท้องถิ่น”

การบรรยายข้อหัว “เตรียมพร้อมรับมือ มาตรการ CBAM : ภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” โดย เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่ออัพเดทสถานการณ์ที่ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ภาคผลิตไปจนถึงผู้ส่งออกจะต้องเตรียมรับมือ นอกจากนี้ อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนผลิตและพัฒนาสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จะมาบรรยายในหัวข้อ “สมุนไพรการแพทย์ : BCG จากฐานราก”

ตามด้วยวงเสวนาในหัวข้อ BCG to Go : เปลี่ยน-ปรับ รับเทรนด์ธุรกิจ ยั่งยืน” ที่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งท่องเที่ยว พลังงาน สมุนไพรแปรรูป ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชน จะมาบอกเล่าถึงการพัฒนาธุรกิจรองรับโอกาสด้าน BCG  โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นาวาอากาศเอก อธิคุณ  คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) รศ.ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ประธานบริหาร บริษัท สเปเชียลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด ฑิฆัมพร กองสอน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน นาวาตรีสถาพร  สกลทัศน์  บริษัท ฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และ โกศล แสงทอง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ดำเนินรายการ โดย ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที

Module 7 : สร้างสรรค์ เศรษฐกิจใหม่ให้ยั่งยืน สะท้อนถึงแนวทางของ BCG ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจได้ ตั้งแต่บริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระทั่งชุมชน โดย ชนะ ภูมี Chief Sustainability Officer บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จะมาบรรยายในหัวข้อ SCG วิถีโตยั่งยืน” และ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย บรรยายหัวข้อ ESG-BCG : ก้าวใหม่ที่สมดุล ตลาดทุนไทย”   

อภิชาต   โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา จะนำกรณีศึกษาของชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการ Scale up ยกระดับธุรกิจชุมชน แก้จนอย่างยั่งยืน” มาถ่ายทอดให้ได้เรียนรู้ และ ธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการ โครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จะบรรยายในหัวข้อ “ธุรกิจดีได้ ชุมชนดีด้วย”

Module ที่ 8 มีกิจกรรม Area-Based BCG Matching เพื่อให้ผู้อบรมได้ร่วมกับชุมชนวางแผนพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง BCG ประกอบด้วย 4 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน คือ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) จ.ศรีสะเกษ, วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จ.น่าน, วิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง จ.ระนอง

โดยกิจกรรมจะเริ่มต้นจากเสวนา “โชว์เคส BCG สัมมาชีพ : ใช่แค่วาทกรรม เราทำจริง” เพื่อให้ชุมชนเหล่านั้นได้บอกเล่าข้อมูลของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย บุญมี สุระโคตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) จ.ศรีสะเกษ ชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จ. น่าน “สุริยา ศิริวงษ์” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง จ.ระนอง “บัญชา แขวงหลี” ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ ดำเนินรายการ โดย ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที

จากนั้นจึงจะเป็นช่วงของการจับคู่ทำแผนพัฒนาระหว่าง LFC13 กับพื้นที่ โดยวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) โดดเด่นด้านทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน เด่นด้านส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องสำอางจากสมุนไพร วิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน พัฒนาการท่องเที่ยวเป็นหมู่บ้าน Green Village และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง นำผลิตผลคือมังคุด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มหลากหลาย

หลังจากกิจกรรม Matching แล้ว จะเป็นการนำเสนอแผนพัฒนาของผู้เรียน LFC ทั้งหมด ประกอบด้วย แผนพัฒนาโครงการ ศูนย์เรียนรู้ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านบึงหล่ม จ.กำแพงเพชร รวมทั้งแผนพัฒนาธุรกิจจาก 4 กลุ่มวิสาหกิจดังกล่าว โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะมาให้ความเห็นและชี้แนะเพิ่มเติม

ก่อนจะปิดท้ายเซสชั่นวันนั้นด้วย Leader Talks ในหัวข้อ “พลังพลเมือง สร้างความเปลี่ยนแปลง” โดยดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

หลักสูตรนี้ยังมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ต่างๆ เป็นระยะๆ ผ่านเวที LFC Talks เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสบอกเล่าความตั้งใจ ประสบการณ์ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาว LFC 13 ได้ส่งต่อไปยังผู้อื่นต่อไป มีกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง LFC  ทั้งในวันแรก และวันปิดหลักสูตร และมี ดร. นัชชา เทียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชา ผู้ประกอบการทางสังคมยุคดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โค้ชจิตอาสาเพื่อผู้ประกอบการทางสังคม มาเป็นวิทยากรกระบวนการกิจกรรมสานสัมพันธ์ LFC13 อีกด้วย

ปิดหลักสูตรที่ Module 9 ด้วยพิธีส่งมอบแผนพัฒนาสู่พื้นที่ การสรุปผลการดำเนินงานร่วมกับพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยทั้งผู้เข้าอบรมและองค์กรภาคี ผู้สนับสนุน จะส่งมอบงานต่อชุมชน พร้อมการสนทนาสบายๆ กับปาฐกถาพิเศษ “สัมมาชีพ เปลี่ยนเมืองไทยให้น่าอยู่” โดย สนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งท้ายด้วยการเลี้ยงอำลารวมรุ่นระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง LFC รุ่นต่างๆ อีกครั้ง

เหล่านี้ คือ ไฮไลท์ สำหรับหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 13 ที่ผู้เรียนจะได้ทั้งองค์ความรู้สู่การเป็นผู้นำ ได้ทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และได้เครือข่ายความสัมพันธ์

หลักสูตรนี้ที่จะมีขึ้นในช่วงวันศุกร์ – เสาร์ ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2566 – 16 กันยายน 2566 สนนราคาอัตราค่าลงทะเบียนบุคคลทั่วไป 40,000 บาท, องค์กรภาคี และสมาชิกเครือข่ายผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง แนะนำ 30,000  บาท

สอบถามรายละเอียดที่ เกียววะลี มีสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายขับเคลื่อนโครงการผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ โทรศัพท์ 090-262-3653, ณัฐณิชา เสมือนโพธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขับเคลื่อนโครงการผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ โทรศัพท์ 094-043-0163 E-mail: sammachiv.lfc@gmail.com