บีทีเอสลุ้นกทม.จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 หมื่นล้านบาท

Categories : Update News, Stock Market

Public : 06/12/2023

กทม. หารือบีทีเอ สางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว  ลุ้นสภา กทม.ประชุมต้นเดือนหน้า เคาะจ่ายหนี้ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 หมื่นล้านบาท ด้าน"คีรี"เผย หนี้อีก 3 หมื่นลบ. อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ และรอรัฐบาลชี้ขาด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วมกับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS โดยระบุว่า วันนี้ (12 มิ.ย.) BTS ได้มาหารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดชำระ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

โดยที่ผ่านมา กทม.ได้เตรียมการเรื่องนี้มาตลอด และต้องชี้แจงว่ากระบวนการในการดำเนินการมีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ

1. เรื่องที่กรุงเทพธนาคม (เคที) ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขออนุมัติจากทางสภา กทม.ก่อน โดยปัจจุบัน กทม.ได้มอบหมายให้เคทีไปดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องแล้ว

2. หากจะชำระเงินค่าจ้างให้แก่เอกชน ต้องพิจารณานำเงินสะสมจ่ายขาดไปดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเสนอให้สภา กทม.พิจารณา

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาเรื่องการจ่ายหนี้ค้างชำระให้กับเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการวิสามัญได้ศึกษาเรื่องนี้ และมีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้นคาดว่าปัจจุบันจะมีรายละเอียดเพียงพอต่อการประกอบการพิจารณา จึงคาดว่าหากเปิดการประชุมสภา กทม. สมัยหน้า หรือราวต้นเดือน ก.ค.นี้ จะสามารถนำเรื่องหนี้ E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ครบกำหนดชำระเข้าสู่การพิจารณาของสภา กทม.ได้

 

ทั้งนี้ กทม.จะดำเนินการพร้อมกันใน 2 ทาง คือ เอาเรื่องเข้าสภา กทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วนี้ และสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.ในสมัยหน้าได้ทันที และ ติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลในหลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหา อาทิ

เรื่องที่ 1 อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคำสั่ง ม.44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ แต่ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย ดังนั้น กทม.ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างส่วนนี้ และค่าโครงสร้างพื้นฐานเหมือนโครงการลงทุนอื่นๆ

เรื่องที่ 2 เรื่องที่ค้างอยู่ตาม ม. 44 เกี่ยวกับมูลหนี้ที่เกิดจากในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยก่อนหน้านี้คำสั่งดังกล่าวจะพิจารณาในเงื่อนไขให้สัญญาสัมปทานใหม่ ปัจุจบัน กทม.ได้ทำหนังสือทวงถามถึงแนวทาง และมูลหนี้ที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ใน ครม. ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นคงต้องสอบถามและเร่งรัดทาง ครม. ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร

“เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ บีทีเอสก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภา กทม. ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” นายชัชชาติ กล่าว

 

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการเจรจาครั้งนี้ทำให้บีทีเอสและ กทม.เข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าผู้ว่าฯ กทม.จะพยายามแก้ไขปัญหา นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.เพื่อจะผลักดันเรื่องให้มีการใช้จ่าย และบีทีเอสมั่นใจว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท จากการจ้าง E&M ซึ่งจะทำให้บีทีเอสสามารถนำเงินไปให้บริการผู้โดยสารได้ต่อเนื่อง

ส่วนปัญหาหนี้จากงาน O&M หรือค่าเดินรถและซ่อมบำรุงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการศาลปกครองพิจารณา และเรื่องนี้อยู่ในคำสั่งเดิมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามคำสั่ง ม.44 ซึ่งตนยอมรับว่า ขณะนี้ไม่ทราบว่าทาง ครม.รักษาการนี้จะทำอะไรได้บ้าง เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผ่านในชุดรัฐบาลที่แล้วแม้จะมีการนำเรื่องเข้าออกการประชุม ครม.ประมาณ 3-4 เที่ยว

“ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาอาจจะไม่เข้าใจดีถึงปัญหา แต่หากรัฐบาลรักษาการณ์จะทำให้เรื่องนี้จบได้ ถ้าทำได้ก็อยากให้ทำ เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับบริษัทอีกประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาทที่ยังคงค้างอยู่ และเราก็มั่นใจว่าสัญญาที่ทำไว้ในทุกโครงการของเราถูกต้องชี้แจงได้” นายคีรี กล่าว