ออมสิน ชู ESG in action เดินหน้าธนาคารเพื่อสังคม  สร้างอิมแพคเป็นเม็ดเงินกว่า 55,400 ล้านบาท

Categories : Update News, Finance

Public : 07/20/2023
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยใช้แนวคิด ESG เป็นกรอบการดำเนินธุรกิจ มุ่งสร้าง Social Impact ประเมินมูลค่าแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 55,400 ล้านบาท  ผ่านโครงการต่างๆ ใน 3  มิติ ได้แก่       1 การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ  การปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและกลุ่มฐานรากได้แล้วกว่า 3.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.2 ล้านคนเป็นผู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบเพราะมีเครดิตต่ำหรือไม่มีเครดิตทางการเงินมาก่อน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนกว่า 48,000 ราย ก็ได้รับการเติมทุนเสริมสภาพคล่องเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ให้สามารถนำไปประคองธุรกิจและฟื้นฟูกิจการให้เดินหน้าต่อได้       2 การปรับโครงสร้างดอกเบี้ยตลาดให้เป็นธรรม ผ่านโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งสามารถลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ลงมาอยู่ที่ 16-18% ในปัจจุบัน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ที่ให้ลูกค้าสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้ ซึ่งประสบความสำเร็จนำไปสู่การร่วมทุนจัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะปล่อยสินเชื่อได้ 7,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปล่อยสินเชื่อทั้งโครงการที่ 25,000 ล้านบาท       3 การสร้างงานสร้างอาชีพ สามารถพัฒนาทักษะอาชีพแก่ประชาชนได้มากกว่า 300,000 ราย ให้เงินทุนประกอบอาชีพมากกว่า 140,000 ราย และสร้างช่องทางการขายแล้ว 25,000 ร้านค้า ผ่านกิจกรรมของโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการออมสินxอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน เป็นต้น     นอกจากนี้ ธนาคารได้จัดตั้งบริษัท เงินดีดี จำกัด บริษัทนอนแบงก์ ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (P Loan) สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และ Welfare โดยในเร็วนี้ธนาคารจะยื่นขอใบอนุญาต (ไลเซนต์) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว โดยหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันภายในไตรมาส 1/67 ธนาคารมีแผนที่จะทำการปล่อยสินเชื่อเป็น Digital P Loan คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1/67     สำหรับอัตราดอกเบี้ย พี โลน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20-23% จากปัจจุบันในตลาดอยู่ที่ 25% ขณะที่นาโนไฟแนนซ์คาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะดำเนินการอยู่ที่ 28-30% จากตลาดที่อยู่ที่ 33% โดยธนาคารมีความหวังว่าจะดึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ปรับลดลง และจะทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น     “ในระยะถัดไปนั้น จะเป็น Digital Landing หรือการปล่อยสินเชื่อผ่าน Application 100% โดยอาจจะเป็นในช่วงปีหน้า เพราะต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติม แต่ในช่วงแรกยังคงดำเนินการภายใต้สาขาอยู่”นายวิทัย กล่าว     นายวิทัย กล่าวว่า ธนาคารเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง และธปท. โดยคาดว่าจะเห็นมาตรการดังกล่าวในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกัน ธนาคารเตรียมออกสินเชื่อ EV Supply chain โดยคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในสิ้นดือน ส.ค. 66       ด้านผลการดำเนินงานปี 66 ในรอบ 6 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.66 ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 17,344 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 2.35 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 2.68 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 3.16 ล้านล้านบาท พร้อมกับสามารถรักษาระดับ NPLs ได้ที่ 2.63% ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratios) 172.10% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) แตะระดับ 106,595 ล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคาร