บสย. มั่นใจยอดค้ำประกันสินเชื่อปี 66 ไม่ต่ำกว่า 95,000 ล้านบาท  เตรียมชงขอรัฐบาลใหม่เพิ่มวงเงิน PGS10 อีก 50,000 ลบ.

Categories : Update News, Finance

Public : 07/20/2023
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ บสย.ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อรวมไม่ต่ำกว่า 95,000 ล้านบาท  เป็นการปรับลดเป้าลงมาจาก 120,000 ล้านบาท เนื่องจากกระบวนการทำงานภายใน   สำหรับการดำเนินงานการค้ำประกันสินเชื่อในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อนุมัติวงเงินรวม 67,987 ล้านบาท คิดเป็น 72% เป้าหมาย ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 51,427 ราย  สร้างสินเชื่อสู่ระบบ 76,049 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 493,552 ตำแหน่ง ผ่านโครงการประกันสินเชื่อ 4 โครงการ คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก วงเงิน 30,280 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อบสย.เอสเอ็มอี เข้มแข็ง วงเงิน 24,766 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อรานสถาบันการเงิน ระยะที่ 7 สงเงิน 8,634 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ วงเงิน 4,307 ล้านบาท           ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.ภาคบริการ สัดส่วน 31% เช่น รับเหมาก่อสร้าง ภัตตาคาร ขนส่ง โรงแรมและหอพัก เป็นต้น 2.ภาคเกษตรกรรม สัดส่วน 11% เช่น ธุรกิจผัก-ผลไม้ ธุรกิจชา กาแฟ ธุรกิจข้าว ธุรกิจสินค้าเกษตร เป็นต้น 3.ภาคการผลิตและสินค้าอื่นๆ สัดส่วน 10% เช่น ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีก ตลาดสด และแผงลอย เป็นต้น สำหรับอัตราส่วน  NPG  ต่อภาระค้ำประกันคงค้างอยู่ที่ระดับ 7-8% เพราะทยอยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าหลังเข้ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยอด NPG จะลดลงอยู่ที่ระดับ 5 %   สำหรับทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง บสย.จะยกระดับการค้ำประกันด้วย Digital Technology สู่การเป็น SMEs Gateway โดยหวังว่าจะช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบให้ได้มากที่สุดในช่วงฟื้นประเทศ โดยเน้นทำงาน 3 เร่ง คือ เร่งค้ำ เร่งพัฒนา และเร่งยกระดับ               สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานผ่าน 3 เร่ง คือ 1.เร่งผลักดันการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย. มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS10 ประมาณ 25,000 ล้านบาท และมีแผนจะเสนอรัฐบาลใหม่ขยายวงเงินเพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) มีวงเงินรองรับราว 50,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบัน ระยะที่ 7 วงเงินรองรับ 15,000 ล้านบาท   2.เร่งพัฒนาโครงการพัฒนานวัตกรรม บสย. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Digital Platform และพัฒนา Line @tcgfirst เพื่อเข้าถึงบริการใหม่ เช่น การจองคิวปรึกษาหมอหนี้ ผ่าน Line ตลอด 24 ชั่วโมง   3.เร่งยกระดับการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาหมอหนี้ บสย. โครงการพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาทางการเงิน ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs และโครงการการให้บริการ Credit Mediator เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น       นายสิทธิกร กล่าวว่า ส่วนรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามานั้น อยากให้ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย รวมถึงต้องการให้รัฐบาลใหม่เพิ่มวงเงินเข้า PGS10 อีกเท่าตัว จากปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อในโครงการดังกล่าว 50,000 ล้านบาท