ธนาคารกรุงเทพ วางยุทธศาสตร์สาขาฮ่องกงสู่ ‘เกตเวย์ จีน-อาเซียน’ชี้กลุ่มยานยนต์ EV-ทุนใหญ่ กำลังคึกคัก

Categories : Update News, Finance

Public : 08/21/2023

ธนาคารกรุงเทพ วางยุทธศาสตร์สาขาฮ่องกงสู่ ‘เกตเวย์ จีน-อาเซียน’   โชว์จุดแข็งประสบการณ์เกือบ 70 ปี–เครือข่ายสาขาแข็งแกร่ง ตอบรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ชูธง ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ พร้อมเปิดประตูการค้าเอเชียตะวันออก

 

ธนาคารกรุงเทพ วางยุทธศาสตร์ ‘เกตเวย์ จีน-อาเซียน’ ดันสาขาฮ่องกงเป็นหัวหอก เปิดประตูการค้าเอเชียตะวันออก ปูทางสู่โอกาสลงทุนเขตเศรษฐกิจ GBA มั่นใจจุดแข็งประสบการณ์เกือบ 70 ปีในฮ่องกง แถมเครือข่ายสาขาครอบคลุมภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง ขานรับโอกาสจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ขณะเดียวกันพร้อมเปิดต้อนรับเงินทุนจีนไหลเข้าไทย ชี้กลุ่มยานยนต์ EV-ทุนใหญ่ กำลังคึกคัก ชูธง ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ พร้อมพาลูกค้าลุยตลาดอาเซียน เป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง

 

นายสุทธิชัย จิวัฒน์ธนากุล Senior Vice President และผู้จัดการทั่วไป สาขาฮ่องกง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตสำหรับสาขาฮ่องกงให้เป็นเกตเวย์ที่ช่วยเชื่อมต่อภาคธุรกิจและการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องการเข้าสู่ประเทศจีน โดยใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับกลุ่มธุรกิจจากจีนที่ต้องการเปิดตลาดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยและรวมถึงการเชื่อมต่อไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพื่อตอบรับกับจังหวะของเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังข้ามผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการและนักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังการผลิตและโอกาสเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจให้แข็งแรงยิ่งขึ้นในระยะยาว

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของฮ่องกงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2562 ที่เกิดปัญหาการประท้วงรัฐบาลและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักอย่างภาคบริการ การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ คลายตัวลง ล่าสุดสัญญาณการเติบโตเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจในปี 2565 เติบโต 2.3% และคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 4-5% อัตราเงินเฟ้อปร ะมาณ 2%

 

นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า ฮ่องกงถือเป็นประตูที่สำคัญของธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่การลงทุนในประเทศจีนและเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่รัฐบาลจีนได้ประกาศพื้นที่เศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ GBA (Greater Bay Area) ที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 11 เมืองสำคัญ จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจมากสำหรับการค้าและการลงทุน ที่สำคัญฮ่องกงยังถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการเงินเนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินหลายด้านที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น ระบบการทำธุรกรรมการเงิน สำนักงานกฎหมาย สำนักงานบัญชี ทั้งยังเป็นตลาดการค้าเงินสกุลหยวนนอกประเทศ (Offshore RMB) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น นักลงทุนจึงมักเลือกใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและการเงินที่ใช้เชื่อมต่อกับบริษัทย่อยหรือโรงงานที่ทำหน้าที่ด้านการผลิตที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน และเป็นโอกาสที่สำคัญของธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง เช่นกัน

“ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และบรรษัทข้ามชาติ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในจีน โดยใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีทั้งธุรกิจจากประเทศไทย เช่น กลุ่มซีพี และบ้านปู รวมถึงธุรกิจจากต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน รวมถึงธุรกิจในฮ่องกงเองที่เคยเริ่มต้นจากบริษัทเล็ก ๆ และเติบโตมาด้วยกัน สนับสนุนกันมายาวนานจนวันนี้หลายบริษัทกลายเป็นธุรกิจระดับนานาชาติแล้วก็ยังใช้บริการกันอยู่ เพราะเราเข้ามาเปิดธุรกิจในฮ่องกงตั้งแต่ปี 2497 หรือเป็นเวลาเกือบ 70 ปีแล้ว จึงมีประสบการณ์และความเข้าใจตลาดนี้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นธนาคารไทยเพียงแห่งเดียวที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านการธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ หรือ Full License ในฮ่องกง และยังประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ซึ่งมีเครือข่าย 5 สาขาในเมืองสำคัญของจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น เราจึงมีศักยภาพและความพร้อมให้บริการลูกค้าธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างครบวงจร”

 

สำหรับความกังวลต่อเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่มีสภาวะฟองสบู่และผู้ประกอบการขนาดใหญ่เกิดปัญหาผิดนัดชำระนั้น นายสิทธิชัย กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่พอสมควร โดยเฉพาะในเมืองรอง ซึ่งภาครัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากธนาคารในท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ตลาดในเมืองขนาดใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ยังมีความแข็งแรงและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนธนาคารกรุงเทพนั้น ไม่มีการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจที่มีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยนโยบายที่ค่อนข้างระมัดระวัง ซึ่งการปล่อยสินเชื่อลักษณะนี้จะต้องเรียกหลักประกันเต็มจำนวนวงเงินสินเชื่อและมีการันตีจากบริษัทแม่ ที่ผ่านมาธนาคารเคยปล่อยสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์อยู่บ้าง แต่ปัจจุบันได้ชำระคืนครบหมดแล้ว

 

นอกจากการเป็นเกตเวย์สู่การลงทุนในประเทศจีนแล้ว ธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง ยังมีความพร้อมสำหรับธุรกิจจากจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนประเทศไทย รวมถึงกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเช่นกัน โดยนายสิทธิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ 2 กลุ่มธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจนถึงการกระจายกำลังการผลิตเข้าสู่ประเทศไทย คือ กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electronic Vehicle) ซึ่งเติบโตขึ้นประมาณ 20-30% จากปีก่อนหน้า และกลุ่มธุรกิจที่มีเงินทุนขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทในลักษณะ Holding Company มีการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมเช่น China Resources และ China Merchants เป็นต้น

 

นายสิทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนจากจีน แม้จะเห็นการลงทุนที่เติบโตขึ้นมากในเวียดนาม แต่จะยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการผลิตที่ต้องใช้แรงงานสูง เช่นสิ่งทอ แต่ประเทศไทยน่าจะเป็นเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยี มีความทันสมัย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ภาครัฐพยายามส่งเสริม ขณะที่สถานการณ์ด้านการเมืองซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น เชื่อว่าภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาตลอด แต่สิ่งสำคัญคือ ขอให้มีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เช่น นโยบาย Thailand 4.0 และโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพที่ชัดเจนและตัดสินใจสำหรับอนาคตต่อไปได้

 

“ด้วยนโยบาย Belt and Road Initiative ของทางการจีนที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนและประเทศต่าง ๆ ขณะเดียวกันปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ จึงเป็นข้อจำกัดด้านการไปลงทุนในฝั่งตะวันตก บวกกับความน่าสนใจของตลาดอาเซียนที่เป็นทั้งตลาดแรงงานและตลาดการค้าที่มีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ จึงเชื่อมั่นว่าปริมาณเงินลงทุนจากจีนจะยังคงไหลเข้าสู่อาเซียนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารกรุงเทพในฐานะ ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ มีศักยภาพสูงมากที่จะคว้าโอกาสจากทิศทางดังกล่าว ด้วยเครือข่ายธุรกิจและสาขาที่ครอบคลุม 9 จาก 10 ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทยซึ่งตลาดหลัก มีธนาคารเพอร์มาตาที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพสำหรับรุกตลาดอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับตลาดสำคัญอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามที่มีเครือข่ายสาขาและประสานงานกันใกล้ชิดตลอด ก็พร้อมบริการลูกค้าด้วยความเข้าใจ เพื่อเป็น “เพื่อนคู่คิด” และเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมกับลูกค้า เช่นเดียวกับที่สาขาฮ่องกงได้ดำเนินธุรกิจในแนวทางนี้ตลอดมา” นายสิทธิชัย กล่าว