ธ.ก.ส. เผยผลงานไตรมาสแรก เติมทุนกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท พร้อมเดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน
Categories : Update News, Finance
Public : 08/26/2023ธ.ก.ส. มุ่งแก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบ ผ่านมาตรการมีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก จูงใจการชำระหนี้ด้วยโครงการชำระดีมีโชค พร้อมเผยผลดำเนินงานไตรมาสแรก ปล่อยสินเชื่อแล้ว 74,048 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ จำนวน 2,065 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2566 (เมษายน – มิถุนายน 2566) ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อในภาคการเกษตรไปแล้ว 74,048 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,631,268 ล้านบาท ยอดเงินฝากสะสม 1,825,943 ล้านบาท มีสินทรัพย์จำนวน 2,232,021 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,080,919 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 151,102 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,065 ล้านบาท ขณะที่ NPL อยู่ที่ร้อยละ 8.07 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.95 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยตั้งเป้าในปีบัญชี 2566 ปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท และลดหนี้ NPL ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบ Agile ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจและเครือข่ายการเกษตร รองรับการเติบโตใหม่ในกลุ่ม Smart Farmer AgriTech และ Startup
พร้อมวางนโยบายการขับเคลื่อนงาน ธ.ก.ส. สู่ “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและการปรับทิศทางสู่อุตสาหกรรมเกษตร พร้อมนำทัพพนักงานกว่า 23,000 คนทั่วประเทศ ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ทำให้ ธ.ก.ส. เป็น Essence of Agriculture [แกนกลางการเกษตร] โดยเริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาคเกษตร ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา " มีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย " เพื่อรักษาวินัยในการชำระหนี้
ซึ่งภาพรวมจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ทำให้อัตราหนี้ที่มีปัญหาลดลง โดย ณ 30 มิถุนายน 2566 สามารถลด NPL ได้ 5,105 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้แล้ว จำนวน 184,697 ราย จำนวนต้นเงินคงเป็นหนี้ 78,931 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังจูงใจลูกค้าที่ชำระหนี้ดีด้วยโครงการชำระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา ธนาคารจะนำจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท มอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค รางวัลรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 จับรางวัลรวม 4 ครั้ง ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 710,123 ราย เป็นเงินกว่า 59,000 ล้านบาท
ในด้านเงินทุน ธ.ก.ส. พร้อมเติมสินเชื่อใหม่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่นสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นต้น

การเข้าไปแก้ไขปัญหา Aging ลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งมีจำนวนประมาณ 35% ของลูกค้าทั้งหมด โดยจัดทำโครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้อันเป็นภาระและมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินหลักประกันให้กับทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้และร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว ตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ย MRR ให้อยู่ที่ร้อยละ 6.975 ต่อปี ต่อไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยให้กับลูกค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของเกษตรกรรายย่อยหลังสถานการณ์ Covid-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ
ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ มีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,814 ชุมชน ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 12.4 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท การยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งเป็นการนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้คนในชุมชนหันมาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรายได้ การประสานความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการให้ความรู้และสร้างผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ จำนวน 1,504 ราย ทำให้ชุมชนสามารถนำต้นไม้ที่ปลูกมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้วจำนวน 4.4 ล้านบาท และเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในยุคดิจิทัล และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกธนาคารต้นไม้ธ.ก.ส. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) เพื่อใช้ในการบันทึก รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต้นไม้ โดยสามารถคำนวณมูลค่าต้นไม้และปริมาณในการกักเก็บคาร์บอนต้นไม้ได้อีกด้วย