ISSB กับกติกาสากลด้านความยั่งยืน…. ที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนทั่วโลกรอคอย
Categories : Update News, ESG News
Public : 08/30/2023ISSB คือใคร ออกมาตรฐานอะไร และทำไม IOSCO ซึ่งเป็นองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงประกาศให้การยอมรับ (endorse) มาตรฐานดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566
ผู้เขียนขอชวนมาทำความรู้จักกับกติกาใหม่ที่จะเป็นตัวเร่งเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์
ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนทั่วโลก เริ่มจากบริษัทที่จะมีมาตรฐานในการรายงานข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นต้น ที่ต้องการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัทที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน ส่งเสริมบทบาทหน้าที่การจัดสรรเงินลงทุนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ISSB คือใคร ออกมาตรฐานอะไร และมีประโยชน์อย่างไร
‘ISSB’ หรือ International Sustainability Standards Board เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ International Financial Reporting Standards (IFRS) Foundation โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ได้ออกมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัทจำนวน 2 ชุด ได้แก่ IFRS S1 และ IFRS S2 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในระดับสากล (global baseline) สอดคล้องกับกรอบคำแนะนำของคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures : TCFD) และมาตรฐานบัญชี International Accounting Standards Board (IASB) ถือเป็นมาตรฐานสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่หน่วยงานระดับสากลต่างมีหลักการและแนวปฏิบัติด้านการวัดและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัทแตกต่างกัน โดยการวัดผลและการเปิดเผยข้อมูลยังคงไม่สะท้อนถึงผลกระทบจาโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านความยั่งยืนต่อสถานะทางการเงินของบริษัท เปรียบเสมือนมีไม้บรรทัดหลายอันในการวัดและแสดงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ไม่สามารถเปรียบเทียบและเชื่อมโยงข้อมูลได้
ดังนั้น IFRS S1 และ IFRS S2 จึงยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทให้มีความครบถ้วนน่าเชื่อถือ จัดทำในรูปแบบภาษาบัญชีที่ผู้จัดทำรายงานทางการเงินคุ้นเคย ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้รายงานสามารถเปรียบเทียบข้อมูลด้านความยั่งยืนระหว่างบริษัททั้งในประเทศ ต่างประเทศ และต่างกลุ่มอุตสาหกรรมได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน
IFRS S1 และ IFRS S2 แตกต่างกันอย่างไร และผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางจะได้รับประโยชน์อะไรจากกติกาใหม่นี้
IFRS S1 กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับบริษัทในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
IFRS S2 กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทด้านโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) รวมถึงตัวชี้วัดตามกลุ่มอุตสาหกรรม (industry-based metrics) ที่บริษัทใช้ในการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้าน climate change เพื่อให้ผู้ใช้รายงานนำข้อมูลของแต่ละบริษัทไปเปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ หลักการสำคัญภายใต้ IFRS S1 และ IFRS S2 คือ การเปิดเผยโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และ climate change ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ (material) ต่อข้อมูลทางการเงินของบริษัท ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต้นทุนของเงินทุน ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว โดยที่บริษัทต้องระบุงบการเงินในส่วน ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภายใต้ IFRS S1 และ IFRS S2 ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนกับสถานะทางการเงินของบริษัทได้อย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทในการรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบต่ความสามารถในการทำกำไร การแข่งขัน และความอยู่รอดของบริษัทได้ดีกว่ารูปแบบการรายงานข้อมูลของบริษัทในปัจจุบัน
ดังนั้น มาตรฐาน IFRS S1 และ IFRS S2 จะส่งผลให้ 1.นักวิเคราะห์การลงทุน มีข้อมูลที่จะช่วยในการประเมินและจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้อย่างครอบคลุม มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น และ 2.ผู้จัดการกองทุน มีข้อมูลประกอบการพิจารณาการบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีสำหรับผู้ลงทุนในระยะยาวต่อไป
แนวทางการนำ IFRS S1 และ IFRS S2 ไปใช้ในแต่ละประเทศ
แม้ ISSB จะประกาศให้เริ่มใช้ IFRS S1 และ IFRS S2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป แต่กำหนดการบังคับใช้ ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันได้ โดย IOSCO ให้ ก.ล.ต. แต่ละประเทศพิจารณาแนวทางการนำมาตรฐานดังกล่าวไปบังคับใช้โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ดี ISSB ยังคงผลักดันให้มี ‘Assurance Standards’ ภายในสิ้นปี 2567 เพื่อให้มีมาตรฐานสากลในการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัท สร้างความโปร่งใส และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ ISSB อยู่ระหว่างการจัดทำ ‘Adoption Guide’ เพื่อช่วยให้แต่ละประเทศในการออกหลักเกณฑ์รองรับ IFRS S1 และ IFRS S2 โดยจะร่วมกับ IOSCO ในการเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ของบริษัท ในการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวด้วย
อนาคตประเทศไทย
“ตลาดทุนไทย” เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัทตาม IFRS S1 และ IFRS S2 จะเป็นประโยชน์อย่างมากและเป็นตัวช่วยอันทรงพลังสำหรับผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน โดยเมื่อบริษัทพร้อมที่จะปฏิบัติตามกติกาใหม่นี้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ก็ต้องพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน
ก.ล.ต. จึงได้ออกคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ สภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน ที่สอดคล้องกับกรอบคำแนะนำของ TCFD ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของ IFRS S1 และ IFRS S2 รวมทั้งได้สนับสนุน CFA Institute ในการจัดทำ Guidance For Integrating ESG Information into Equity Analysis and Research Reports เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางมีแนวปฏิบัติที่ดีในการผนวกปัจจัยด้าน ESG และ climate change ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารจัดการลงทุน
ดังนั้น นักวิเคราะห์การลงทุนและผู้จัดการกองทุนจึงควร ‘ตื่นตัว’ โดยเริ่มทำความคุ้นชินกับการผนวกความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึง climate change เข้าไปในการวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารจัดการลงทุน ตามแนวปฏิบัติที่ดีในคู่มือข้างต้นเพื่อเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการที่่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวางแผนการดำเนินการในอนาคต เพื่อพัฒนากระบวนการดังกล่าวให้้ดียิ่งขึ้น พร้อมที่จะก้าวให้ทันกับกติกาใหม่ของสากลที่จะเป็นประโยชน์ต่อ การดำเนินธุรกิจในอนาคตต่อไป
*******************************
บทความโดย นางสาวสิรีฒร ศิวิลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)