ถอดบทเรียนความสำเร็จ ปตท.-ออมสิน “ผู้นำ” นำสังคมสู่ความเปลี่ยนแปลง

Categories : Update News, ESG News

Public : 09/06/2023

โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 “Leadership for Change - LFC#13 : BCG Model in Action” โดยมูลนิธิสัมมาชีพ นำเสนอกรณีศึกษาของสององค์กรใหญ่ระดับประเทศ ปตท.-ออมสิน ว่าด้วย การเป็น “ผู้นำ” นำสังคมสู่ความเปลี่ยนแปลง เพิ่มโอกาสชุมชน สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ควบคู่การขับเคลื่อนธุรกิจระดับประเทศนำสังคมสู่ความยั่งยืน

ภารกิจร่วมขับเคลื่อนสังคม อยู่ใน DNA คน ปตท.

คุณกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ถ่ายทอดวิสัยทัศน์และปฏิบัติการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของ ปตท. ภายใต้หัวข้อ “ถอดบทเรียน ปตท.ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” ว่า ปตท.เป็นองค์กรที่ก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์การจัดสรรหาพลังงานน้ำมันให้กับคนไทยและประเทศไทย เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ แต่ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ปตท. ได้ดำเนินการทั้งด้านสังคมและชุมชน รวมถึงสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเรียกว่า ปตท.ไม่ได้มุ่งเพียงการทำกำไรหรือเพื่อธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังเห็นความสำคัญของการดูแลสังคมและดูแลชุมชนรอบด้าน

“จากการดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันแรก ปตท.ไม่ได้มีภารกิจเฉพาะเรื่องของพลังงาน แต่ยังรวมถึงการดูแลสังคม ชุมชน ให้เติบโตไปด้วยกัน เป็นเรื่องที่ถูกฝังเข้ามาในดีเอ็นเอของคน ปตท. ตั้งแต่เริ่มต้น”

ตลอด 45 ปี ปตท.ขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมทั้งขนาดใหญ่และระดับชุมชนต่อเนื่อง เริ่มจากการจัดสรรที่ดินเพื่อทำโครงการศูนย์สมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งเรียนรู้ที่ ปตท.จังหวัดระยอง ก่อนจะขยายสู่โครงการอื่น ๆ ลำดับต่อมา

“ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรป่าไม้ แม้เป็นช่วงเวลาที่ ปตท.เองผลประกอบการไม่ได้ดีนัก เราได้ร่วมจัดทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 5 ล้านไร่ และยังดำเนินโครงการปลูกป่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปีนี้ ปี 2566 ปตท.ได้ทำโครงการปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่”

คุณกนกพรกล่าวว่า เดิม ปตท.ไม่มีความรู้เรื่องการปลูกป่า แต่ด้วยความมุ่งมั่นศึกษากระบวนการและนำศาสตร์พระราชามาใช้ ทำให้เจ็ดปีต่อมาสามารถถวายผืนป่า 1 ล้านไร่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปีได้

 

ช่วงปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อสำคัญของธุรกิจพลังงาน เพราะพลังงานฟอสซิลใกล้จะหมดไป ปตท. ต้องสรรหาพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพลังงาน แต่ปตท. ก็ร่วมสนับสนุนสังคมไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด โดยทุ่มเงิน 200 ล้านบาท ทำโรงพยาบาลสนามครบวงจร รวมถึงจัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน

ไม่เฉพาะด้านสาธารณสุข ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่ต้องสะดุดในช่วงเวลานั้น และต้องได้รับการฟื้นฟูเมื่อทุกอย่างหยุดชะงักไปเพราะโควิด-19 โดยเฉพาะในชุมชนการเกษตรกรรม นักศึกษาจบใหม่ที่ว่างงาน ปตท.จึงริเริ่มโครงการรีสตาร์ทไทยแลนด์ รับนักศึกษาจบใหม่มาร่วมทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ตลอดสามปี ปตท.เปิดรับบุคลากรมาร่วมโครงการกว่า 48,000 อัตรา

ค้นหาทุน ต่อยอดเติมความยั่งยืนในชุมชน

คุณกนกพรเผยต่อว่า ในด้านการสรรหาชุมชน ปตท.เน้นค้นหาพื้นที่ที่มีศักยภาพในแต่ละด้าน โดยร่วมกำหนด กลยุทธ์ แนวทางนโยบาย นวัตกรรมร่วมกันเพื่อต่อยอดยกระดับชุมชน “เมื่อเราค้นหาวิเคราะห์พื้นที่ชุมชน ที่ไหนมีทุนความยั่งยืนด้านใด ปตท. จะเข้าไปเสริม อย่างวิสาหกิจชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่เราพบว่า เขามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว คือการทำไม้ดอก ไม้ประดับ มะสังดัด สามารถส่งออกขายต่างประเทศ ปตท. ก็เข้าไปเติมเต็มด้านนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีความถนัด ก็สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้” คุณกนกพรกล่าว

โดยในการสนับสนุน ไม่เพียงจะส่งเสริมด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ปตท. ยังส่งเสริมด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างช่องทางการตลาดควบคู่ไปด้วย การนำนวัตกรรมช่วยเสริมชุมชนและสังคมของปตท. มีการจัดตั้งเป็นสถาบันนวัตกรรม วิจัยและพัฒนาโซเชียลอินโนเวชัน (Social Innovation) ซึ่งคุณกนกพรย้ำว่า “ต้องเป็นโซเชียลอินโนเวชันที่ทำให้ชุมชนยิ้มได้ ประเทศและสังคมยิ้มได้”

ปัจจุบัน ปตท.ได้ขยายด้านธุรกิจเทคโนโลยีโดยจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อรองรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมถึงบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม “วรุณา” บริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตรอัจฉริยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน “สิ่งที่ปตท.อยากเห็นคือ รอยยิ้มชุมชน เราเชื่อว่าองค์กรและสังคมนี้จะแข็งแรงเติบโตยั่งยืนได้ เราต้องเติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“ออมสิน” ธนาคารเพื่อสังคม สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนฐานราก

คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในปาฐกถา "ออมสินเพื่อสังคม" ก้าวที่ท้าทาย ปรับสู่ฐานราก มุ่งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ยั่งยืน ว่า ธนาคารออมสินได้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นธนาคารเพื่อชุมชนมาสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย

คุณวิทัยกล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่สุดเชิงโครงสร้างสองด้านคือ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ “ธนาคารออมสินพยายามเข้ามาช่วยทำ” และปัญหาที่สอง คือเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งคุณวิทัยมองว่าทั้งสองเรื่องเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุดของประเทศไทย “แต่แม้แก้ไม่ได้ เราก็สามารถบรรเทาได้ ถ้าเราไม่พยายามช่วยบรรเทาปัญหาโครงสร้างทั้งสองเรื่อง ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจนจะวนเวียนอยู่แบบนี้ บทบาทที่เราทำได้ชัดเจนคือ เข้าไปแข่งขันในตลาดที่ดอกเบี้ยสูงเกินไป” คุณวิทัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้นำผลกำไรจากการปล่อยโปรเจคธุรกิจใหญ่ มาปล่อยสินเชื่อรายย่อย และใช้วิธีลดต้นทุนอย่างรุนแรงปีละเป็นหมื่นล้าน เพื่อนำกำไรมาขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสังคม

ในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด Social Mission Integration ออมสินสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในภาคประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

“ไซส์ของเราถ้าไปวางทาบกับธนาคารอื่น เราอยู่ในอันดับ 1 ใน 5 เรามีฐานลูกค้า 23 ล้านราย มีสินทรัพย์ 3.15 ล้านล้านบาท มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่าพันสาขา ถ้าผมทำธุรกิจ commercial bank จริงๆ เราทำธุรกิจได้ทุกอย่างแบบธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ความใหญ่ของเรา ทำให้เราช่วยคนได้

ด้วยความสามารถด้านการบริหารต้นทุนการเงิน ทำให้ออมสินมีเงินฝาก 2.6 ล้านล้านบาท สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

“ในระยะยาว การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คือการเพิ่มรายได้ให้เขา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่แก้ยาก การสร้างอาชีพเป็นภารกิจรัฐบาล แต่บทบาทที่เราทำได้ชัดเจน คือเข้าไปแข่งขันในตลาดที่ดอกเบี้ยสูงเกินไป สร้างโอกาสการเข้าถึงให้กับคนฐานราก ซึ่งภาครัฐต้องให้ความร่วมมือด้วย”

ที่ผ่านมาธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 8 ล้านคน เพื่อแบ่งเบาภาระด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนฐานรากที่เคยประสบอุปสรรคการขอสินเชื่อเนื่องจาก Credit Quality ต่ำลง ด้วยเผชิญปัญหาหนี้สิน อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยังกระหน่ำซ้ำเติม

ธนาคารออมสินยังจัดทำโครงการสินเชื่อพิเศษผ่อนปรนเงื่อนไข ช่วยประชาชนแก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอล ช่วงโควิด-19 กว่า 3.7 ล้านราย รวมถึงเข้าไปทำธุรกิจบางอย่างที่มีกำไร เช่น การปล่อยสินเชื่อจำนำมอเตอร์ไซด์ หรือจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น

คุณวิทัยกล่าวต่อว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบ หรือเคยเข้าสู่ระบบแต่มีหนี้สิน ทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ธนาคารออมสินจะไปดึงคนกลุ่มนี้กลับมาเข้าสู่ระบบ

“เราช่วยให้ข้อมูลกับภาครัฐและดึงคนเข้าสู่ระบบ” คุณวิทัยกล่าว

แม้การเป็นธนาคารเพื่อสังคมไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และไม่ได้ผลกำไรทางธุรกิจเป็นหลัก แต่นี่คือภารกิจที่ออมสินได้หลอมรวมระหว่างธุรกิจ-สังคม