ตลท. ยกเครื่องเกณฑ์กำกับครั้งใหญ่ -ฟรีโฟลทต่ำนานเกินอาจถูกเพิกถอน-ขึ้นเตือนผิดนัดหุ้นกู้ -เข้มคุณภาพ ไอพีโอ เตรียมใช้เกณฑ์ใหม่ปี 67

Categories : Update News, Stock Market

Public : 09/12/2023
 

ตลท. ยันจะเริ่มบังคับใช้เกณฑ์กำกับบจ.ใหม่ในปี67 ทั้งปรับเพิ่มฟรีโฟลท - การเพิกถอนบจ. - เพิ่มการเตือนผู้ลงทุน รวมถึงการรับหุ้นใหม่ และ Backdoor ชี้เป็นไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและฐานะการเงินของบริษัทในประเทศไทย รวมทั้งเล็งนำการขึ้นเครื่องหมายมาเตือนนักลงทุนกรณี ผิดนัดหุ้นกู้ อย่างที่เกิดขึ้น

 

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า    ขณะนี้ ตลท. กำลังทบทวนกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล บจ.ในSET และmai ทั้งกระบวนการ รวมถึงในส่วนของการกำกับดูแลการซื้อขายทั้งหมดด้วย ซึ่งคาดว่าเกณฑ์ทั้งหมดที่ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว และน่าจะนำมาบังคับใช้ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้เกณฑ์ที่มีการปรับปรุงเช่น คุณสมบัติของบริษัทน้องใหม่ที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมถึงทบทวนเกณฑ์เดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและเหมาะสมกับขนาดและฐานะการเงินของบริษัทในประเทศไทย

โดยหนึ่งในการทบทวนเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น คือการปรับปรุงเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนรายย่อย (ฟรีโฟลท) ของบริษัทใหม่ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และmai ที่อาจต้องปรับสัดส่วนฟรีโฟลทให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว โดยเฉพาะบริษัทในตลาด mai หรือบริษัทขนาดเล็กที่มีฐานทุนต่ำ ควรมีสัดส่วนฟรีโฟลทมากๆเพื่อให้มีสภาพคล่องในตลาดรองให้หมุนไปได้ รวมถึงกำลังพิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดทุนจดทะเบียนของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด SET ที่ไม่จำเป็นต้องมีมูลค่าถึง 300 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อสอดคล้องกับตัวธุรกิจในปัจจุบัน

 

"ปัจจุบัน ตลท. กำลังทบทวน Positioning ของตลาดหลักทรัพย์ SETและ mai พร้อมยกระดับการกำกับดูแลบจ.ด้าน Ongoing และการเพิกถอน โดยคาดว่าภายในปี 67 จะเห็นตลท.จะออกเกณฑ์กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใหม่เข้ามามากขึ้น" นางสาวปวีณา กล่าว

 

โดยสำหรับแนวทางการยกระดับการกำกับดูแลบจ.ด้าน Ongoing และการเพิกถอนนั้น จะมีทั้งในส่วนของการเพิ่มการเตือนผู้ลงทุนและเพิกถอนบริษัทที่มีปัญหาด้านผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน เช่น 1.กรณีบริษัทที่มีรายได้ต่ำหรือขาดทุนต่อเนื่อง 2.บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ และ 3.ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน

 

ถัดมาคือการยกระดับการดำเนินการกับ บจ. ที่มีฟรีโฟลทไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยจะมีการขึ้นเครื่องหมาย C และ SP แทนการเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มและการประกาศรายชื่อ หาก SP ติดต่อกันเกิน 2 ปี จะเข้าเหตุเพิกถอนตามเกณฑ์ปัจจุบัน

 

รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดของการเข้าจดทะเบียนไม่ว่าด้วยช่องทางใดมีคุณภาพใกล้เคียงกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะร่วมพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทหลัง Backdoor และ Resume Trading ในลักษณะเดียวกับการ IPO โดยการทำรายการดังกล่าวต้องมีบริษัทที่ปรึกษาการเงิน (FA) ด้วย

 

นอกจากนี้ ตลท.กำลังพิจารณาการ แยกเครื่องหมาย C เป็นหลายประเภท จากปัจจุบันที่มีเพียงเครื่องหมาย C (Caution) เดียว เพื่อยกระดับการเตือนผู้ลงทุนกรณี บจ.มีปัญหาด้านฐานะการเงินและการดำเนินงานด้วยเครื่องหมาย C หวังให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนการลงทุน

รวมถึงกรณีที่มี บจ.ผิดนัดการชำระหนี้หุ้นกู้หรือหนี้สถาบันการเงิน ก็อาจจะพิจารณาขึ้นเครื่องหมายเตือนนักลงทุนโดยอิงจากสมาคมตราสารหนั้เช่น DP (Default Payment) และFP (Fail To Pay ) เป็นต้น

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าที่ผ่านมาบริษัทมีความต้องการเข้าระดมทุมจำนวนมาก โดยประโยชน์ของการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ คือการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสให้แก่บริษัท ทำให้ระบบบัญชีและการควบคุมภายในมีมาตรฐาน สู่การเป็นองค์กรสำหรับผู้บริหารมืออาชีพ และยังสนับสนุนการเติบโต จากการเพิ่มช่องทางในการระดมทุนระยะยาว เสริมสร้างภาพลักษณ์ชื่อเสียงของบริษัท รวมไปถึงการเพิ่มโอกาสในการหาพันธมิตรทางธุรกิจด้วย แต่ในส่วนของกลุ่ม Owner จะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านของสะท้อนมูลค่าธุรกิจตามราคาตลาด รวมไปถึงการจัดสรรในประโยชน์ภายในครอบครัวและการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีระบบ

 

ทั้งนี้ การที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นมีประเด็นที่ต้องเตรียมให้พร้อมทั้งในส่วนของโครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างธุรกิจ รวมไปถึงโครงสร้างองค์กรกรรมการ ผู้บริหาร ทั้งในเรื่องของ Internal audit,Legal issue, Financial report ให้มีมาตรฐาน และเรื่อง ESG โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีเวลาจำกัดในการพิจารณาแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง) บริษัทควรเตรียมข้อมูลให้ครบถ้วนและชัดเจนไม่มีประเด็นให้ตั้งข้อสงสัย และกรรมการทุกท่านควรทำความเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามสำหรับผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่เข้าจดทะเบียนหรือ IPO โดยปัจจุบันผลตอบแทนเฉลี่ยหุ้น IPO เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 13% ถือว่าเป็นระดับที่ดี ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา