แนะมือใหม่ อ่านสเปกแบตเตอรี่รถไฟฟ้า เพื่อการเดินทางที่ดียิ่งขึ้น

Categories : Update News

Public : 10/28/2023

ขณะนี้ ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้า การจะเปลี่ยนถ่ายจากรถยนต์เครื่องสันดาปมายังรถยนต์ไฟฟ้านั้น สิ่งที่คนยังต้องการรักษาไว้นั่น คือ "ไลฟ์สไตล์การขับขี่" ที่ยังคงอยากให้ใกล้เคียงกับการใช้งานรถยนต์แบบเดิมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะทางการขับในแต่ละการเติมพลังงาน อัตราเร่งที่อยากให้ใกล้เคียงหรือดีกว่า รวมไปถึงการเติมพลังงานที่อยากให้มีความใกล้เคียงกับการใช้รถยนต์เครื่องสันดาปแบบเดิม

ก่อนอื่นต้องบอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าสเปกตัวรถจะเหมือนกับรถยนต์เครื่องสันดาปเลย แตกต่างกันตรงที่รถไฟฟ้าไม่มีเครื่องยนต์ แต่จะใช้ "มอเตอร์ไฟฟ้า" ในการสร้างกำลังขับเคลื่อน เหมือนกับ "เครื่องยนต์" และ "แบตเตอรี่" ในการเก็บพลังงานไฟฟ้า เหมือนกับ "ถังน้ำมัน" นั่นเอง

จุดสำคัญที่ต้องดูในรถยนต์ไฟฟ้าหลัก ๆ เราจะดูเรื่องของ "ระยะทางการวิ่งต่อ 1 การชาร์จ" เป็นหลักมากกว่า ก่อนจะมาดูเรื่องของ "แรงม้า/แรงบิด" ของตัวมอเตอร์ และถึงจะมาเริ่มดูกันเรื่อง "อัตราบริโภคพลังงานไฟฟ้า"

สิ่งที่ควรทราบอีกอย่างคือ รายละเอียดเกี่ยวกับสเปกของแบตเตอรี่ ว่าเป็นแบบไหน ซึ่งทางค่ายรถก็มักจะแนบมาให้อยู่แล้ว แต่เราก็อาจจะงง ๆ ว่ามันหมายความว่าอย่างไร

วันนี้ กรุงศรี ออโต้ อยากจะมาแนะนำวิธีการอ่านสเปกแบตเตอรี่รถไฟฟ้า เพื่อให้อีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในการพิจารณาตัดสินใจเลือกรุ่นรถไฟฟ้า ยิ่งหากท่านเป็นหนึ่งในคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปต่างจังหวัด การชาร์จหนึ่งครั้งหากวิ่งได้ไกลเท่าไรยิ่งดี และหากรู้ว่าเติมไฟฟ้าต่อครั้งวิ่งได้กี่กิโลเมตรจะเอื้อต่อการวางแผนแวะสถานีชาร์จรถไฟฟ้าได้อุ่นใจด้วยเช่นกัน

 

งั้นเรามาดูการอ่านสเปกแบตเตอรี่กัน ขอยกตัวอย่าง อ้างอิงจากรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์หนึ่ง

แบตเตอรี่ : ลิเธียมไอออน

ความจุพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ (kWh) : 71.4

แรงดันไฟฟ้า (V) : 355

รองรับการชาร์จ AC (kW) : 6.6

รองรับการชาร์จ DC (kW) : 150

จากสเปกแบตเตอรี่รถไฟฟ้าดังกล่าว ขออธิบายแบบง่าย ๆ เทียบกับรถยนต์สันดาป ดังนี้

    • พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่แบตเตอรี่กักเก็บไว้ได้ หน่วยเป็น kWh เปรียบเสมือนหน่วย "ลิตร" ของความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์
    • ส่วนแรงดันไฟฟ้า (หน่วย V หรือ Volt) คือแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ตัวรถ มีผลต่อเรื่องการชาร์จเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งแบตที่มีแรงดันไฟฟ้าสูง (Volt เยอะ) ก็จะยิ่งรับกำลังการชาร์จไฟฟ้าด้วยระบบ DC Fast charge ได้มากยิ่งขึ้น
    • ส่วนการ "รองรับการชาร์จ" ที่มีกำกับด้วยหน่วย kW หมายถึง "กำลังในการชาร์จไฟฟ้า" หน่วย kW หรือพูดแบบให้เห็นภาพก็เหมือนท่อน้ำนั่นเองครับ ยิ่ง kW เยอะ ก็ยิ่งจ่ายไฟได้เยอะ เหมือนท่อน้ำที่มีขนาดใหญ่

ดังนั้น รถไฟฟ้าจะสามารถจ่ายไฟได้เต็ม kW ด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับค่า V หรือแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ในตัวรถและขึ้นอยู่กับสเปกของตู้ชาร์จไฟฟ้าด้วยว่าจ่ายไฟได้แรงมากแค่ไหน ถ้าตู้จ่ายไฟได้แรงมาก แต่รถรับได้น้อยก็จะรับได้แค่ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดของที่รถรับได้ กลับกันแม้ว่ารถเราจะรับไฟได้มาก แต่ถ้าตู้จ่ายได้น้อยก็จะรับไฟฟ้าแค่ความแรงสูงสุดที่ตู้กำหนด

อีกจุดหนึ่งที่เป็นตัวบ่งบอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนั้น ๆ จะขับได้ไกลแค่ไหนอีกนั่นคือ "อัตราบริโภคพลังงานไฟฟ้า"

ยกตัวอย่างเช่น 160 Wh/km (160 วัตต์ หรือ 0.16 kWh/1 กิโลเมตร) หรืออาจจะแจ้งว่า 16 kWh/100 km. ก็จะเหมือนกับกินน้ำมัน 16 ลิตร/100 กิโลเมตร หรือถ้าอยากคิดเป็นแบบหน่วย กิโลเมตร/ลิตร ก็เพียงนำ 100 กิโลเมตร / 16 kWh = 6.25 กิโลเมตร/1 kWh ซึ่งเป็นจุดที่สามารถบอกได้ด้วยว่ารถคันนั้น ๆ สามารถวิ่งได้กี่กิโลเมตรต่อ 1 การชาร์จ

 

หากคุณเป็นคนสนใจเรื่องรถไฟฟ้า ทางกรุงศรี ออโต้ ขอแนะนำแอปพลิเคชัน GO by Krungsri Auto เหมาะกับผู้ใช้รถคนไทยทุกคน เพราะมีทั้งบริการทางการเงิน สมัครขอสินเชื่อออนไลน์ อนุมัติวงเงินพร้อมออกรถได้ภายใน 30 นาที คอนเทนต์ด้านยานยนต์ ค้นสถานีชาร์จรถไฟฟ้าจากผู้ให้บริการสถานีชาร์รถไฟฟ้าชั้นนำของไทย ยังมีบริการต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้รถอีกมากมาย รวมถึงสิทธิพิเศษและส่วนลดมากมายตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในยุคนี้ สนใจโหลดใช้งานได้ ที่นี่ https://kautolink.com/ujo42Z

#เครดิตภาพจาก Auto Guru บนแอปพลิเคชัน GO by Krungsri Auto