“เศรษฐา” ย้ำแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท สรุปชัดเจน 10 พ.ย.นี้

Categories : Update News, Digital Asset

Public : 11/07/2023

นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไม่มีถอย สรุปแน่ 10 พ.ย.นี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่าการดำเนิน โครงการแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทางรัฐบาลไม่มีความคิดที่จะถอยหลัง และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด และถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทุกคนจะต้องได้รับผลประโยชน์สูงสุด โดยในวันที่ 10 พ.ย. 66 นี้ จะต้องรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งที่มาที่ไป ขั้นตอน ระยเวลา และกฎกติกาที่ชัดเจนต่อไป

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พ.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะเป็นผู้ชี้แจงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมด โดยเบื้องต้น ในส่วนของคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณามาตรการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดแล้วอาจจะไม่ต้องมีการหารืออะไรเพิ่มเติมอีก และแนวทางทั้งหมดยังคงเป็นไปตามมติที่คณะอนุกรรมการฯ เคยได้พิจารณาไว้

 
“หลักเกณฑ์การคัดแยกกลุ่มผู้ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต 3 กลุ่มยังคงเป็นไปเหมือนเดิม รวมทั้งข้อเสนออื่นๆ ยังเป็นเหมือนเดิม จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ คาดว่าจะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และดูรายละเอียดอีกครั้ง และจะมีความชัดเจนขึ้น ก่อนจะรู้ว่าข้อสรุปสุดท้ายก่อนเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่จะเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ ตรงนี้จึงยังยืนยันอะไรไม่ได้” นายจุลพันธ์ กล่าว  

รมช.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ในโครงการจะยังใช้เงินงบประมาณเป็นหลัก ในส่วนข้อกังวลว่าจะเป็นการผูกพันงบประมาณหรือไม่ ในกรณีที่ไม่สามารถอยู่ครบเทอมได้ 4 ปีนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหา หากโครงการได้ทำงบผูกพันไว้แล้วก็ต้องต้องดำเนินการให้สิ้นสุดตามแผน แต่ก็ยังมีขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องตรวจสอบ หากทำความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ได้ก็เดินมาตรการได้

สำหรับกรอบเวลาดำเนินการยังไม่ยืนยันว่าจะทำได้ทันภายในไตรมาส 1/66 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องขั้นตอน เทคนิคในการทำแอปพลิเคชั่น ยืนยันว่าจะใช้ระบบบล็อกเชนควบคู่ไปกับแอปเป๋าตัง จึงต้องใช้เวลาคงไปเร่งส่วนงานที่ทำระบบไม่ได้ แม้ว่าเราจะอยากให้เสร็จเร็วก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยข้อมูล ส่วนจะใช้แอปฯ ไหน อย่างไร ไม่เป็นปัญหา รัฐบาลไม่ได้เดือดร้อนอะไร หากสามารถเดินหน้าโครงการเติมเงินให้ประชาชน

 

ทั้งนี้รายละเอียดเบื้องต้นของโครงการคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการหารือถึงการปรับเปลี่ยนคำนิยามของการดำเนินโครงการใหม่จากเดิมที่จะเป็นนโยบาย “เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย” ปรับเปลี่ยนเป็นนโยบาย “เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ” แทน “วาง 3 แนวทางแจกเงิน”

สำหรับคณะอนุกรรมการฯ เตรียมเสนอนั้น มี 3 แนวทางประกอบด้วย

1.ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท

2.กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 1 แสนบาท ใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท

3.กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาท ใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท