สรรพากร อนุมัติลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ TESG ลดหย่อนภาษีได้ 30 % ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 แสนบาท

Categories : Update News, Finance

Public : 11/21/2023

สรรพากร อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย  จัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ( TESG) ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนไม่เกิน 30 % ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 แสนบาท สำหรับปีภาษี โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน 

     

ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG)” มีรายละเอียด ดังนี้ 1. ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษี โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 (วันที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการ) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

       

2. ยกเว้นให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนที่ได้รับสิทธิตามข้อ 1 และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย”

มาตรการภาษีนี้จะช่วยให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะทำให้เสถียรภาพของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น และจะทำให้ผู้มีเงินได้มีทางเลือกในการออมและการลงทุนระยะยาวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งยังจะทำให้การลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และกิจการของไทยที่ให้ความสำคัญแก่ ESG เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามไปด้วย อันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ รวมทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)”