ธอส. ลุยแก้หนี้ปี 67 ออก 3 มาตรการช่วยปลดล็อคหนี้ครัวเรือน

Categories : Update News, Finance

Public : 12/29/2023

ในห้วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์หนี้สินภาคประชาชน นับเป็นปัญหาใหญ่ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลต้องประกาศมาตรการแก้หนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ

   

เนื่องจากพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปสูง 16.4-16.5 ล้านล้านบาท สิ้นปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 90-91% ต่อจีดีพี เนื่องภาวะเศรษฐกิจไทยยังถดถอย คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7  ลดจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 3  เพราะแผนหารายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ทำให้เงินในกระป๋า ของคนไทยหดหายตามไปด้วย กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

   

รัฐบาลจึงส่งสัญญาณด้วยการเร่งออกมาตรการแก้หนี้นอกระบบ และในระบบ เพื่อช่วยลูกหนี้ก่อนที่ลูกหนี้ทั้งระบบจะหมดความสามารถในรชำระหนี้ จนทำระบบสถาบันการเงินสั่นครอน

   

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ภายใต้การบริหารของ นายกมลภพ วีระพละ ที่เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. ในลำดับที่ 14 มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งบทบาทของ ธอส. ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการสกัดปัญหาหนี้ในระบบ ในส่วนของหนี้ที่เกิดจากการกู้ซื้อบ้าน

 

โดย สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ธอส. มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,669,492 ล้านบาท และภายในสิ้นปี 2566 คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมยที่ตั้งไว้ที่ 235,480 ล้านบาท  ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 70,809 ล้านบาท คิดเป็น 4.24% ของยอดสินเชื่อรวม

     

จะเห็นว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธอส. เป็นสถาบันการเงิน ที่เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ นับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน  วันที่ 26 ธันวาคม 2566 มีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินและเข้าปรับโครงสร้างหนี้สูงถึง 196,232 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 200,055 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.06% ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้และมีแนวโน้มลดลง

     

ล่าสุด ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 จำนวน 3 มาตรการ ช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ได้รับความช่วยเหลือนาน 1 ปี โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดลง

ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL BFRIEND และสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 นี้

   

เพื่อช่วยลูกค้าให้กลับมามีความสามารถในการผ่อนชำระเงินงวดมากขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือนาน 1 ปี จำนวน 3 มาตรการ ประกอบด้วย

1. มาตรการภาคครัวเรือน “HD1” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี, เดือนที่ 4-6 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90 % +100 บาท และเดือนที่ 7-12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 3.90 % +100 บาท กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี)

   

2. มาตรการภาคครัวเรือน “HD2” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท, เดือนที่ 4 - 6  ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 3.90 % +100 บาท และเดือนที่ 7 - 12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2% +100 บาท (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. เท่ากับ 6.90% ต่อปี) กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี)

             

3. มาตรการภาคครัวเรือน “HD3” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 4 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี, เดือนที่ 5-8 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90 % +100 บาท และเดือนที่ 9 - 12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% +100 บาท กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี)

     

ทั้งนี้ เพื่อช่วยลูกค้าส่วนใหญ่ของ ธอส. ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง และมีกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ที่ขาดความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ เสี่ยงต่อการตกชั้นหนี้ และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หรือ SM ซึ่งเชื่อว่าการออกมาตรการช่วยเหลือ 3 มาตรการนี้ จะสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะช่วยให้ลูกค้าสามารถรักษาบ้านของตนเองไว้ได้ต่อไปเศษ

บทความพิเศษ  #ธนาคารอาคารสงเคราะห์ #ธอส. #ธอส.ออกมาตรการแก้หนี้  #แก้หนี้ครัวเรือน