BAM เปิดแผนปี67 ตั้งเป้าเก็บหนี้ 2 หมื่นล้านบาท เดินหน้าขยายพอร์ตสินทรัพย์เพิ่มอีก 7 หมื่นล้านบาท

Categories : Update News, Finance

Public : 02/05/2024

BAM เปิดกลยุทธ์ปี 67 เดินหน้าขยายธุรกิจ ดำเนินธุรกิจใหม่ หวังสร้างผลเรียกเก็บเข้าเป้า 20,000 ล้านบาท เร่งขยายฐานสินทรัพย์เพิ่มอีก 70,000 ล้านบาท เตรียมเงินซื้อหนี้ 10,000 ล้านบาท ชี้ที่ผ่านมาสามารถช่วยลูกหนี้จนได้ข้อยุติ 154,178 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานปี 67 ว่า บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างผลเรียกเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 67 ที่ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายระยะกลางในปี 69 อยู่ที่ 23,300 ล้านบาท

ในขณะที่การขยายฐานสินทรัพย์มีเป้าหมายลงทุนซื้อคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท เพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์ และโอกาสทางธุรกิจของ BAM โดยปัจจุบัน BAM มี NPLs อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท และ มี NPAs อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 154,187 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท และ สามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 51,420 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 121,378 ล้านบาท

"เป้าปีนี้ถือว่าท้าทายมาก ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ความไม่แน่นอนของต่างประเทศ ซึ่งปลายปีก่อนแบงก์เอกชน แบงก์รัฐ เก็บหนี้ไว้กับตัว 5 หมื่นล้านบาท ที่ขายไม่ได้ เพราะราคาต่ำเกินไป ราคาที่เขาอยากได้สูงกว่านี้ และ ไม่มีคนเข้ามาประมูล โดยม.ค. 67 เรากำลังเข้าไปตรวจทรัพย์ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระหนี้เงินต้น"นายบัณฑิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทเตรียมเงินที่จะซื้อหนี้ไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีหนี้ออกมาขายในตลาดมากกว่าที่คาดไว้บริษัทมีแผนรองรับทั้งการออกหุ้นกู้ วงเงินจากสถาบันการเงิน และ กระแสเงินสดของบริษัท

โดยในเดือนมี.ค.นี้บริษัทจะออกหุ้นกู้วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยหุ้นกู้ชุดเก่า และนำเงินมาขยายธุรกิจ โดยในปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 5,900 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้ง AMC ปัจจุบันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปแล้ว โดยเบื้องต้นจะมีการถือหุ้น 50:50 , เงินทุน 50:50 , ฝ่ายบริหาร 50:50 เพื่อไม่ให้บริษัทร่วมทุนถูกครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

"ดีลนี้จะส่งผลดีต่อ BAM ผู้ถือหุ้น และ เศรษฐกิจหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ตอนนี้เรื่องอยู่ที่ทางธปท.แล้ว ถ้าปลดล็อคเรื่องนี้ได้เราก็สามารถทำได้เลย"นายบัณฑิต กล่าว

สำหรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ ประกอบด้วย การขยายธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้

รวมทั้งการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้นจะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการดังกล่าว

ขณะที่การดำเนินธุรกิจใหม่วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ด้วยการพัฒนาระบบด้านการสำรวจ และ ประเมินราคาทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานดังกล่าว (แผนระยะกลาง) การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสม และ ยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA เพื่อช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอน และ ระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

 

นายพงศธร มณีพิมพ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายพัฒนาสินทรัพย์ภูมิภาค กล่าวว่า BAM มีสำนักงานสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเครือข่ายสำนักงานภูมิภาคช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าและให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยพนักงานในสำนักงานสาขาส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น ทำให้มีความเข้าใจสภาวะตลาดในพื้นที่นั้นๆ และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ BAM ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายการทำตลาดและยังทำให้สามารถประเมินราคาของทรัพย์สินในกระบวนการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้แม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งมีความสามารถที่จะปรับตัวตามสภาวะตลาดตามความเหมาะสม โดยอาจเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งสำนักงานสาขาและเปลี่ยนกลยุทธ์ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการโยกย้ายพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเพื่อปฏิบัติงานตามพื้นที่ต่างๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้สำนักงานสาขาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของ BAM ให้ประสบความสำเร็จ ช่วยให้สามารถติดตามและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายสารสนเทศและดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบัน BAM ได้เร่งสร้างระบบการให้บริการลูกค้าบน Online Platform โดยมีระบบการชำระเงิน และ E-TDR (การปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์) ด้วยการจัดทำ BAM Mobile Application ระบบจองทรัพย์/ชำระเงิน และระบบตรวจสอบภาระหนี้/ชำระหนี้ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลสำคัญขององค์กรและรายงานต่างๆ จากแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) และเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันยังได้นำระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของ BAM ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสในการปิดการขาย หรือโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น พร้อมกับเตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป