รมว.พลังงาน ลงพื้นที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ผู้นำท้องถิ่น สร.กฟผ. ร่วมยื่นหนังสือดึงโครงการฯ กลับคืนเข้าแผน PDP2024
Categories : Update News, PR News
Public : 07/02/2024เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 โดยมีนายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนผู้สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าฯ กว่า 400 คน ร่วมให้การต้อนรับและยื่นหนังสือสนับสนุนโครงการฯ
โอกาสนี้ นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้ยื่นหนังสือขอให้โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ฯ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ได้บรรจุกลับเข้าสู่ PDP2024 เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ ณ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ต.หัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาด้านพลังงานประกอบด้วย ปัจจัยด้านความมั่นคงและด้านราคา สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ในปัจจุบัน มีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 3,155 เมกะวัตต์ ขณะที่มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ 2,376 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator : SO) ทำหน้าที่บริหารจัดการสั่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงจากภูมิภาคอื่นๆ เพื่อดูแลความมั่นคง และรักษาต้นทุนราคาค่าไฟให้เหมาะสมที่สุด สำหรับแผน PDP2024 นั้น ในฐานะฝ่ายการเมืองไม่สามารถที่จะแทรกแซงได้ ต้องมีการพิจารณารับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ กฟผ. กระทรวงพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานต่อไป โดยแผน PDP นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
ด้านนายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงข้อมูลโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ว่า โครงการฯนี้ เป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ซึ่งปัจจุบันได้หยุดดำเนินการแล้วเนื่องจากหมดอายุการใช้งาน โดยได้ปลดออกจากระบบเมื่อเดือนธันวาคม 2552 เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งโรงไฟฟ้ามีพื้นที่เดิม 76 ไร่ และได้ดำเนินการจัดซื้อเพิ่มอีก 258 ไร่ รวมเป็น 334 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ซึ่งอยู่ในแผน PDP2018 เดิมนั้น มีเป้าหมายเพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของภาคใต้ ลดการพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง จากการมีแหล่งผลิตไฟฟ้าเพิ่มในพื้นที่ช่วยตอบสนองปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่ยังขาดโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ ตลอดจนรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจต่อไป