SCGPทุ่ม  23,000 ล้านบาทเข้าถือหุ้น PT Fajar Surya Wisesa Tbk. เพิ่มอีก  44.48 %หลังจบธุรกรรมผงาดถือหุ้นเบ็ดเสร็จเกือบ 100

Categories : Update News, Stock Market

Public : 09/02/2024
 

SCGP  ทุ่มเงินอีก 2.3หมื่นล้านบาท  เข้าถือหุ้นเพิ่มเติมใน PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ในสัดส่วน  44.48%  ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเชิงกลยุทธ์การขยายการเติบโตของธุรกิจในอาเซียน  เพื่อรองรับตลาดแข็งแกร่งของประเทศอินโดนีเซีย  และเป็นรากฐานในการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมในสัดส่วนร้อยละ 44.48 ใน PT Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ 1.8 ล้านตันต่อปี โดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่กระดาษลอนลูกฟูก (Corrugated medium) กระดาษปิดผิวบรรจุภัณฑ์ลูกฟูก (Linerboard) กระดาษกล่องขาว (Duplex board) กระดาษทำแกน (Coreboard) มีรายได้ในปี 2566 ประมาณ 7,723 พันล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (IDR) หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม 12,545 พันล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (IDR) หรือประมาณ 27,600 ล้านบาท

ธุรกรรมดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 652.42 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยภายหลังธุรกรรมเสร็จสิ้น จำนวนหุ้นที่ SCGP ถือใน Fajar จะเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 55.24 เป็นร้อยละ 99.72 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด โดยหุ้นที่เหลือจำนวนร้อยละ 0.28 จะถือครองโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย

“SCGP ขยายการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากเป็นประเทศที่มีตลาดแข็งแกร่งและมีศักยภาพที่จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก จากจำนวนประชากรและอัตราการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่สูง มีกลุ่มประชากรที่อายุน้อย และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

 โดยปัจจุบัน PT Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) มีบริษัทย่อย 6 บริษัท ประกอบด้วย ฐานการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. และ PT Dayasa Aria Prima (บริษัทย่อยของ Fajar) และฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก PT Primacorr Mandiri, PT Indorcorr Packaging Cikarang, PT Indoris Printingdo และ Intan Group ทำให้ SCGP สามารถนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และช่วยส่งเสริมให้เกิดการประสานระหว่างธุรกิจ (Synergy)

 

ทั้งนี้ SCGP วางแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของ Fajar ด้วยการนำองค์ความรู้ด้าน Machine Learning และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงาน รวมถึงการจัดการด้านการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า และการขยายตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าร่วมกับพันธมิตรให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมองว่า ประเทศอินโดนีเซียมีแนวโน้มการฟื้นตัวของความต้องการบรรจุภัณฑ์จากการบริโภคในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่ระดับเงินเฟ้อของประเทศอินโดนีเซียมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณการขายกระดาษบรรจุภัณฑ์คาดว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว การดำเนินงานของ SCGP ตามแผนธุรกิจที่เตรียมไว้ที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและการตลาด จะทำให้เพิ่มความสามารถการทำกำไรได้