เงินติดล้อ (TIDLOR) เดินหน้าแผนปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งส์ เดินหน้าขยายธุรกิจในอาเซียน
Categories : Update News, Insurance
Public : 09/09/2024นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า บริษัทกำลังแปลงร่างไปสู่การจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ขออนุมัติผู้ถือหุ้นไปเมื่อเดือน เม.ย. 2567 โดยติดล้อโฮลดิ้งส์ จะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิม โดยการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเป็นการแลกหุ้น ในอัตราเท่ากับ 1 หุ้นสามัญของบริษัท ต่อ 1 หุ้นสามัญของติดล้อโฮลดิ้งส์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 4/2567 หลังจากนั้นจะนำหุ้นติดล้อโฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยแทน ซึ่งคาดว่าไม่เกินปลายปี 2567
ทั้งนี้สาเหตุการตัดสินใจเป็น“ติดล้อโฮลดิ้งส์” เนื่องด้วยโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินติดล้อเกิน 50% เป็นผู้ถือหุ้นต่างชาติ (ปัจจุบันต่างชาติถือหุ้นสัดส่วน 61%) จึงถูกนับเป็นบริษัทต่างด้าว ซึ่งจะมีกฎหมายเฉพาะสำหรับบริษัทต่างด้าวที่ควบคุมอัตราส่วนเงินกู้ต่อทุนจดทะเบียน (D/E Ratio) ไม่เกิน 7 เท่า ทำให้ทุกปี ๆ นอกจากบริษัทปันผลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นแล้ว ยังมีการปันผลเป็นหุ้นด้วยเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและรักษาระดับ D/E Ratio ซึ่งการปันผลเป็นหุ้นไม่ได้เพิ่มมูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้น แต่กลับเพิ่มต้นทุนของบริษัทและผู้ถือหุ้น
โดยตั้งแต่บริษัทเงินติดล้อไอพีโอมาจนถึงปัจจุบันประมาณ 3 ปี พบว่า ต้นทุนของการปันผลเป็นหุ้นมีมูลค่าประมาณกว่า 150 ล้านบาท (ปี 2566 แค่ปีเดียวมีต้นทุนปันผลเป็นหุ้นสูงถึง 80 ล้านบาท) เพราะฉะนั้นการปรับโครงสร้างจะประหยัดต้นทุนดังกล่าวต่อปีหลายสิบล้านบาท ซึ่งสามารถจะเก็บเงินจำนวนนี้ไว้ให้ผู้ถือหุ้นและเอาไปลงทุนธุรกิจจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
“คิดง่าย ๆ ถ้ากำไรของเราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเราปันผลเป็นหุ้นไปเรื่อย ๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ถือหุ้นอาจจะเสียประโยชน์เป็นเงินระดับพันล้านบาท เราจึงมองว่าอาจจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างให้เป็นโฮลดิ้งส์ เพราะโฮลดิ้งส์จะแก้ปัญหานี้ให้กับเราได้ทันที โดยในปี 2568 บริษัทจะไม่มีค่าใช้จ่ายจากการปันผลเป็นหุ้นแล้ว
ทั้งนี้ในอดีตผลตอบแทนจากเงินปันผลเป็นหุ้นและเงินสดขึ้นไปถึง 8% แต่อย่างไรก็ตามภายใต้โฮลดิ้งส์ที่จ่ายปันผลแค่เฉพาะเงินสด ยืนยันว่าผลตอบแทนจะไม่ลดลง เพราะบริษัทยังคงมีนโยบายจ่ายเงินปันผลที่สัดส่วน 20% ของกำไรต่อปี
นอกจากนั้นการแปลงร่างในครั้งนี้ยังจะลดความสับสนของนักลงทุนเกี่ยวกับราคาหุ้น (Dilution) และกำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นใจในศักยภาพของบริษัทให้กับผู้ลงทุนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาว เนื่องจากจะเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านสินเชื่อและนายหน้าประกันภัย และเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจอื่น ๆ รวมทั้งเพิ่มโอกาสการควบรวมกิจการหรือร่วมทุนอีกด้วย
“ราคาหุ้น TIDLOR ควรจะสะท้อนโอกาสในระยะยาวขององค์กร โดยพื้นฐานบริษัทจริง ๆ เราแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ไม่เกี่ยวอะไรกับผลประกอบการของบริษัทเลย ทั้งที่สาขาเงินติดล้อเพิ่มขึ้น เบี้ยจากธุรกิจนายหน้าประกันเพิ่มขึ้น ธุรกิจสินเชื่อเติบโต และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่ลงทุนเป็นร้อย ๆ ล้าน กับการสร้างเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนผลกำไรของบริษัท ดังนั้นพื้นฐานบริษัทแข็งแรงมาก ถ้าเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ประกันภัยหรือสินเชื่อ มั่นใจว่างบดุลของบริษัทใหญ่สุดและมีเงินทุนมากที่สุด ตอนนี้วงเงินที่มีอยู่และยังไม่ได้ใช้กว่า 20,000 ล้านบาท” นายปิยะศักดิ์ กล่าว
หลังการจัดตั้งโฮลดิ้งส์เสร็จแล้วบริษัทยังวางแผนจะแยกธุรกิจดั้งเดิมออกจากธุรกิจสมัยใหม่ โดยจะโอนทรัพย์สินธุรกิจนายหน้าประกันภัย (Insurtech Platform) ทั้งแบรนด์ Areegator และ heygoody มาอยู่ในบริษัทใหม่ (New Tech Company) ซึ่งอยู่ภายใต้ติดล้อโฮลดิ้งส์ โดยติดล้อโฮลดิ้งส์จะเข้าถือหุ้นบริษัทใหม่ในสัดส่วน 99.99%
ขยายธุรกิจเงินติดล้อสู่อาเซียน นายปิยะศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการขยายธุรกิจนับจากนี้ มองหาโอกาสที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจเงินติดล้อออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ซึ่งคาดว่า 3-5 ปีน่าจะมีความชัดเจน หรือหากมีความร่วมมือกับกลุ่ม MUFG หรือธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และ ทั่วภูมิภาค ก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
ขณะเดียวกันบริษัทจะใช้กลยุทธ์ M&A เป็นหนึ่งในการขยายการเติบโตด้วย โดยในอนาคตมีความสนใจจะซื้อใบอนุญาตบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตหากพบโอกาสที่เหมาะสม เนื่องจากมีนายหน้าที่มีใบอนุญาตขายประกันวินาศภัยและประกันชีวิตอยู่แล้วกว่า 5,000 คน แต่ตอนนี้ยังคงโฟกัสขยายการเติบโตผ่านธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัยไปก่อน
ลดเป้าสินเชื่อเหลือโต 10-15% คุม NPL ต่ำกว่า 2% นายปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัทเงินติดล้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในส่วนธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง บริษัทตัดสินใจปรับกลยุทธ์การขยายสินเชื่อใหม่ในปีนี้ โดยปรับลดอัตราการเติบโตลงมาอยู่ในกรอบ 10-15% จากที่ตั้งเป้าไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ระดับ 10-20% โดยปิดสิ้นไตรมาส 2/2567 มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.03 แสนล้านบาท เติบโต 18% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)
และปีนี้บริษัทจะเน้นรักษาคุณภาพสินทรัพย์โดยควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ต่ำกว่า 2% จากสิ้นไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ระดับ 1.86% ซึ่งต่ำกว่าอุตสาหกรรมฯ โดยบริษัทจะควบคุมการอนุมัติสินเชื่อและจะตัดหนี้สูญ (Write-off) สำหรับลูกหนี้ที่อ่อนแอ
นายหน้าประกันเป้าโต 20% เบี้ยแตะหมื่นล้าน นางสาวอาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้บริหารธุรกิจประกันภัย TIDLOR กล่าวว่า สำหรับธุรกิจนายประกันภัยตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมช่วงสิ้นปีนี้จะเติบโต 20% YOY มีขนาดเบี้ยแตะระดับ 10,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนมีเบี้ยอยู่ที่ 8,743 ล้านบาท โดยช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มียอดเบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 4,856 ล้านบาท เติบโต 22% YOY
โดยแบรนด์ประกันติดโล่ จะเป็นธุรกิจนายหน้าประกันในรูปแบบ Face to Face ผ่านนายหน้ามากกว่า 5,000 คน จากช่องทางสาขามากกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ นำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ คน และบ้าน จากบริษัทประกันพันธมิตรบริษัทประกันภัยมากกว่า 15 แห่ง
และแบรนด์อารีเกเตอร์ จะเป็นแพลตฟอร์มเสนอขายประกันออนไลน์ ผ่านสมาชิกตัวแทนนายหน้าประกัน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 9,000 คน และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าเบี้ยประกันปิดสิ้นปีนี้จะมากกว่า 2,000 ล้านบาท
และแบรนด์เฮ้กู๊ดดี้ จะเป็นแพลตฟอร์มนายหน้าประกันดิจิทัลโดยเฉพาะ ที่สร้างขึ้นเพื่อกลุ่มลูกค้าประกันรายย่อยที่ไม่ชอบการถูกรบกวนทางโทรศัพท์ และต้องการเลือกซื้อประกันด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง รับความคุ้มครองทันที โดยลูกค้าสามารถเปรียบเทียบเบี้ยและเงื่อนไขการรับประกันได้ด้วยตัวเองจากบริษัทประกันภัยพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 15 แห่ง
“ตลาดประกันวินาศภัยเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนายหน้าประกันภัยเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 47.3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าธุรกิจประกันวินาศภัยที่เติบโตเฉลี่ย 4.5% โดยปีที่แล้วมีขนาดเบี้ยทั้งระบบ 2.85 แสนล้านบาท พอร์ตประกันภัยรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 50% ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากจำนวนตัวเลขรถจดทะเบียนที่มีเกือบ 20 ล้านคัน แต่มีรถยนต์สัดส่วนถึง 46% ที่ไม่ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ” นางสาวอาฑิตยา กล่าว..