ทรีนีตี้มองผลกระทบจากแผ่นดินไหว: สะเทือนใจสั่นไหวถึงตลาด แต่ไม่หนักหน่วงเท่าโควิด19และน้ำท่วม 2554
Categories : Update News, Stock Market
Public : 31/03/2025ทีมวิจัย Trinity ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 พร้อมทั้งขอส่งกำลังใจให้กับทุกท่านที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง
แม้ว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจะสงบลงแล้ว แต่ผลกระทบกลับยังคงสะเทือนไปในหลายมิติ ไม่เพียงแต่ด้านโครงสร้างอาคารหรือทรัพย์สิน หากแต่ยังส่งผลกระทบทางจิตใจต่อประชาชน และแรงสะเทือนดังกล่าวยังสะท้อนมายังตลาดหุ้นไทยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
- กลุ่มอสังหาริมทรัพย์: หุ้นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญคือกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นพัฒนาโครงการแนวสูง เช่น ANAN, ORI, SIRI, SPALI และ LPN แม้ว่าโครงการจะสร้างตามมาตรฐานความปลอดภัยที่รองรับแผ่นดินไหว แต่ความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของที่อยู่อาศัย อาจกลายเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายและอัตรากำไรของบริษัทในระยะสั้นถึงกลาง
เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติในอดีต แม้ประเทศไทยจะไม่ค่อยประสบกับแผ่นดินไหวรุนแรง แต่สามารถเทียบเคียงแรงกระเพื่อมในแง่มุมของผลกระทบทางเศรษฐกิจและตลาดทุนกับมหาวาตะภัยในปี 2554 ซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ดัชนีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (SET Prop) ปรับตัวลดลงกว่า 25% (Fig. 1) อย่างไรก็ดี ในกรณีของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ผลกระทบต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะอยู่ในระดับจำกัด เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีประวัติของแผ่นดินไหวรุนแรงบ่อยครั้ง และเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีเฉพาะที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
- กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง: เหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มในช่วงแผ่นดินไหว กลายเป็นประเด็นที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่รับหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง โครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ ITD ทั้งในแง่ของภาพลักษณ์และความรับผิดชอบต่อความเสียหาย
- กลุ่มวัสดุก่อสร้าง:
ในระยะถัดไป เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ การฟื้นฟูและซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจะกลายเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง รวมถึงสีทาอาคาร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่นี้ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุเหล่านี้ อาทิ HMPRO, SCGD, SCC, SCCC, DOHOME, GLOBAL, TOA และ DCC จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนอีกครั้ง
- กลุ่มท่องเที่ยว: ในช่วงสั้น ภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบบางส่วนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยเฉพาะความกังวลเรื่องแรงสั่นสะเทือนหลังเหตุการณ์ (Aftershock) ซึ่งอาจทำให้มีการตัดสินใจยกเลิกการเข้าพักในบางพื้นที่ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม เช่น ERW, MINT, CENTEL, DUSIT และ VERANDA อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ ยังคงมีการให้บริการตามปกติ และยังไม่พบสัญญาณการยกเลิกการเข้าพักในระดับที่น่ากังวล
ในระยะถัดไป คาดว่าความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมา โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของไทย ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติยังคงมีแนวโน้มเดินทางเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลโลว์ซีซัน (Low Season) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเข้าพักอ่อนตัวลงในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) และราคาห้องพักเฉลี่ย (Room Rate) ยังคงมีทิศทางเติบโต และยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19
เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ภัยพิบัติในอดีต แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงบ่อยครั้ง แต่เหตุการณ์ที่ใกล้เคียงในเชิงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวสามารถเทียบได้กับเหตุการณ์สึนามิเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2547 ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ตและพังงา
อย่างไรก็ตาม ดัชนี SET Tourism ในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวลดลงเพียง 4% (Fig. 2) สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของภาคท่องเที่ยวไทยในการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ลักษณะนี้ในระยะต่อมา

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นวิกฤตด้านภัยพิบัติเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบททดสอบความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแท้จริง
