“วศิน วัฒนวรกิจกุล “ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย  เดินหน้าปั้น “นักวางแผนการเงิน CFP”  เพื่อนคู่คิดเรื่องการวางแผนการเงินแบบองค์รวม ตอบรับความต้องการความมั่นคงทางการเงินของประชาชน-สังคมเกษียณ

Categories :

Public : 11/09/2022

"วศิน วัฒนวรกิจกุล “ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย  เดินหน้าปั้น “นักวางแผนการเงิน CFP”  เพื่อนคู่คิดเรื่องการวางแผนการเงินแบบองค์รวม ตอบรับความต้องการความมั่นคงทางการเงินของประชาชน-สังคมเกษียณ

 

“  นักวางแผนการเงินจะมีบทบาทและเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ยุคที่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย มีความผันผวน   ยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย สังคมเกษียณ  นักวางแผนการเงินที่ดีจะต้องเป็น เพื่อนคู่คิดเรื่องการวางแผนการเงินแบบองค์รวม  ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการบริหารเงินสด การวางแผนการลงทุน การวางแผนการประกันภัย การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนภาษีและมรดก และการวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายเฉพาะ “  คุณวศิน วัฒนวรกิจกุล   นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย และกรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง ให้สัมภาษณ์  Wealthplustoday.com

 

สำหรับ “ คุณวศิน วัฒนวรกิจกุล ” ถือว่าเป็นนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยคนที่ 4  และ เป็นนายกใน สมัยที่ 2  โดยการเข้าดำรงตำแหน่งจะมีวาระ  2  ปี สามารถต่อได้อีก 2  ปี  โดยเขามีเป้าหมาย และ มีความตั้งใจ ในการเร่งพัฒนานักวางแผนการเงิน CFP  ให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,000 คน  จากปัจจุบันมีจำนวน 456  คน เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่สนใจและขอรับคำปรึกษาจากนักบริหารการเงินมากขึ้นในอนาคต หรือพูดง่ายๆคือเร่งเพิ่มปริมาณนักบริหารการเงิน CFP ให้ทันกับความต้องการที่จะมีเพิ่มเข้ามากในอนาคตข้างหน้า

    “ ชัดเจนหากดูจากผลสำรวจของของนักวางแผนการเงิน CFP ทั่วโลกกว่า 80% มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้คนจะมองหาบริการการวางแผนการเงินเพิ่มขึ้น  โดยมีปัจจัย สําคัญ 3 ลําดับแรก คือ...”  การเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณ  ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการวางแผนการเงินที่เพิ่มขึ้น ความต้องการคำปรึกษาจากมืออาชีพเนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก   และ ยังสอดคล้องกับข้อมูลจากคำถามที่ว่า “การบริการที่ลูกค้าต้องการจากนักวางแผนการเงิน CFP มากที่สุดในอนาคตคืออะไร”  ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นในเรื่อง การวางแผนเพื่อการเกษียณ การวางแผนการลงทุน การวางแผนมรดกและการส่งต่อความมั่งคั่ง รวมถึงการเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุและ Long-term care ตามลำดับ   “   นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย(TFPA) กล่าว

 

          ขณะที่ในประเทศไทยก็ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักวางแผนการเงิน CFP  50 %ที่ตอบแบบสำรวจ   ต่างระบุว่าในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีลูกค้าติดต่อเข้ามาขอรับคำปรึกษาวางแผนทางการเงินมากขึ้น ซึ่งทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเรื่องการวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัว และมีความสำคัญในการช่วยให้สามารถดำรงชีวิตในอนาคตได้อย่างมีแบบแผนมั่นคง และสามารถไปถึงเป้าหมายได้อย่างแข็งแรง และสามารถส่งต่อความมั่งคั่งสู่ทายาทได้ด้วย

 

 อย่างไรก็ตามหน้าที่สำคัญของสมาคมฯคือการพัฒนาและสร้างอาชีพนักวางแผนการเงิน CFP  ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่ายังต้องใช้เวลาแต่เป็นเรื่องที่ต้องทำและสร้างรากฐานไว้รองรับการเติบโตของอาชีพนี้  ตามความต้องการใช้บริการของลูกค้าและประชาชน  ซึ่งหากคิดถึงสถานการณ์ในอดีต ก็จะเปรียบเหมือนตอนที่ประเทศไทยมีธุรกิจ บลจ. ที่เริ่มแรกมีเพียงไม่กี่แห่งที่ให้บริการและ มีลูกค้าจำนวนน้อยบัญชีที่เข้าสู่อุตสาหกรรมกองทุนรวมแต่เมื่อผ่านมา 10ปี อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นมีจำนวน บลจ.เพิ่มมากขึ้นและมีบัญชีในกองทุนรวมกว่า 1.5ล้านบัญชี เช่นกันเราก็คาดหวังว่า อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าอาชีพ นักวางแผนการเงิน CFP จะเติบโตขึ้น

 

คุณวศิน   กล่าวว่า  “หลายคนยังไม่รู้จักว่า นักวางแผนการเงิน CFP คือใคร มีหน้าที่หรือความสามารถด้านไหน และมีความสำคัญอย่างไรต่อการวางแผนการเงิน  ซึ่งต้องบอกว่า  คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP  เป็นคุณวุฒิวิชาชีพ ด้านการวางแผนการเงินที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล  ซึ่งปัจจุบันมีนักวางแผนการเงิน CFP อยู่กว่า 2 แสนรายทั่วโลก

 นักวางแผนการเงินที่มีคุณวุฒิวิชาชีพนี้ สามารถให้คำแนะนำและวางแผนการเงินได้แบบครอบคลุมครบทุกด้าน หรือ “การวางแผนการเงินแบบองค์รวม” ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการบริหารเงินสด  การวางแผนการลงทุน  การวางแผนการประกันภัย  การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนภาษีและมรดก และการวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายเฉพาะ

 

ดังนั้นผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพนี้ จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานสากล 4 ด้าน (4 E’s) ซึ่งได้แก่

  1. Education หรือ การศึกษา ต้องผ่านการอบรมองค์ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินทั้งหมด 6 ชุดวิชา ที่ครอบคลุมเรื่องพื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ การวางแผนการลงทุน การวางแผนการประกันภัย การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนภาษีและมรดก และการจัดทำแผนการเงิน
  2. Examination หรือ การสอบวัดผล ต้องผ่านการทดสอบ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมองค์ความรู้ตามที่ได้อบรมมาทั้งหมด เพื่อวัดความรู้และประเมินความสามารถในการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษา และจัดทำแผนการเงินให้เข้ากับสถานการณ์การวางแผนการเงินจริงได้
  3. Experience หรือ ประสบการณ์การทำงาน ต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงินอย่างน้อย 3 ปี เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่านักวางแผนการเงิน CFP มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะ สำหรับให้คำปรึกษาและจัดทำแผนการเงินให้แก่ลูกค้าแต่ละรายในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. Ethics หรือ จรรยาบรรณ ต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามจรรยาบรรณและความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ วางแผนการเงินและหลักปฏิบัติการวางแผนการเงิน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบที่นักวางแผนการเงิน CFP พึงปฏิบัติต่อสาธารณะ ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และนายจ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อวิชาชีพนักวางแผนการเงิน

นักวางแผนการเงิน CFP ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มคนที่เรียนสายการเงินเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมหรือใช้คุณวุฒิวิชาชีพนี้

    นอกเหนือจากการบริหารโครงการคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP สมาคมฯ ยังมีการดูแลสมาชิก มุ่งสร้างเครือข่ายของนักวางแผนการเงิน CFP ที่มีคุณภาพ จัดกิจกรรมพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งความรู้ทางวิชาการ และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักวางแผนการเงิน CFP อาทิ กิจกรรม CFP® Professional Forum ประจำเดือน งานสัมมนา TFPA Wealth Management Forum ประจำปี กิจกรรมมอบวุฒิบัตร กระชับความสัมพันธ์ประจำปี

“ สมาคมฯ เชื่อว่าอาชีพนักวางแผนการเงิน CFP นั้ เป็นอาชีพที่มีความสำคัญทั้งในปัจจุบันและจะมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เพราะการวางแผนการเงินนั้นไม่เพียงเป็นความรู้ที่สำคัญกับผู้ที่อยู่ในสายการเงินหรือสนใจในสายการเงิน เท่านั้น แต่ เป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนชีวิตเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของประชาชนทุกคนอีกด้วย  ไม่ว่าใครก็สามารถมีสุขภาพการเงินที่ดีได้ เพียงเริ่มจากการวางแผนการเงิน หากว่าคนไทยและครอบครัวมีสุขภาพทางการเงินที่ดีแล้วก็ย่อมส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นไปด้วย ” นายวศิน กล่าว

 คุณวศิน  กล่าวว่า     การให้คำปรึกษา นักวางแผนการเงิน CFP จะถือเอาประโยชน์ของผู้รับคำปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ไม่ใช่เพียงเน้นการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือประกันภัย แต่จะมองรอบด้านในทุกมิติและเลือกเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมา วางแผนให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ  เสมือนเพื่อนคู่คิดทางการเงินที่แท้จริง  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจที่ไม่สามารถกำหนดได้ แต่อย่างน้อยเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น คุณจะรู้สึกอุ่นใจที่มีผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำแนะนำและปรับเปลี่ยนแผนการเงินให้เข้ากับสถานการณ์ชีวิตของคุณได้และสามารถลดความเสี่ยง ! ได้ไม่ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในรูปแบบใด

 

สำหรับกลยุทธ์ที่ทางสมาคมจะนำมาใช้ในการพัฒนาและสร้างนักวางแผนการเงินCFP นั้น สมาคมนักวางแผนการเงินไทย  มีนโยบายออกแบบแผนการตลาดและจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ทั้งด้านคุณวุฒิวิชาชีพ นักวางแผนการเงิน CFP® และด้าน ความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพการเงินที่ดีในระยะยาวให้กับประชาชนทุกคน ในรูปแบบสื่อโฆษณา, สื่อทาง Social Media, กิจกรรมการให้ความรู้  อาชีพนักวางแผนการเงิน CFP เปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดที่จะช่วยคุณออกแบบแผนการเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายของแต่ละบุคคล จากการวิเคราะห์รายละเอียดของบุคคลนั้น ๆ แล้วหยิบเอาเครื่องมือทางการเงินมาออกแบบเป็นแผน ประกอบกับระยะเวลาที่ต้องการ   และยังเชื่ออีกว่า เรื่องการวางแผนการเงินนั้นไม่เพียงเป็นความรู้ที่สำคัญกับผู้ที่อยู่ในสายการเงิน หรือสนใจในสายการเงินเพียงเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับประชาชนทุกคน เพราะ

   “ไม่ว่าใครก็สามารถมีสุขภาพการเงินที่ดีได้ เพียงเริ่มจากการวางแผนการเงิน”

การวางแผนการเงินไม่ใช่จะเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีฐานะเท่านั้น แต่คนที่มีหนี้ก็สามารถใช้บริการนักวางแผนการเงินได้เพราะหากมีนักวางแผนการเงินเข้ามาช่วยดูและวิเคราะห์ก็จะทำให้การก่อหนี้เหมาะสมกับรายได้และอนาคตการเก็บออมการสร้างความมั่นคงก็จะเกิดขึ้น   “

   

 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association – TFPA) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509  เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเองที่ไม่แสวงหากำไร

-  26 กันยายน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งในส่วนของบุคคลและนิติบุคคล จำนวน 39 ราย ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเล็งเห็นประโยชน์ของบริการวางแผนการเงินที่จะมีต่อประชาชนและอุตสากรรมการเงินของประเทศไทยเป็นสำคัญ

-   ปี พ.ศ. 2550 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นสมาชิกสมทบ (Associate Member) ของ FPSB จนกระทั่งในการประชุมของ FPSB ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่เซี่ยงไฮ้ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) จึงได้เข้าเป็นสมาชิกร่วม (Affiliate Member) ในลำดับที่ 22 โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP และคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ และมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล รวมทั้งเป็นที่รู้จักและยอมรับในอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

-  ปี พ.ศ. 2552 จึงมีผู้ขึ้นทะเบียนคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP กลุ่มแรก จำนวน 66 ราย และต่อมาในปี พ.ศ. 2553 จึงเริ่มมีผู้ขึ้นทะเบียนคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT ด้านการลงทุน และคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT ด้านประกันชีวิตและเพื่อการเกษียณ

ขณะที่นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย  ผ่านมาแล้ว 3คนประกอบด้วย

1.คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

         2.คุณธีระ ภู่ตระกูล  

        3.คุณสาระ ล่ำซำ

       4.คุณ วศิน วัฒนวรกิจ คนปัจจุบันดำรงตำแหน่งวาระที่2