กรุงศรีคาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25 ในการประชุมเดือนกันยายนนี้

Categories :

Public : 09/12/2023

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25 ในการประชุมเดือนกันยายนนี้

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.88% แต่ยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 คาดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 0.88% YoY สูงขึ้นจาก 0.38% ในเดือนกรกฏาคม ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (หลังจากติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน) กอปรกับการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารบางกลุ่ม อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ ผักและผลไม้สด ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 0.79% ชะลอลงจาก 0.86% ในเดือนก่อน สำหรับในช่วง 8 เดือนของปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.01% และ 1.61% ตามลำดับ

 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าอาจขยับขึ้นบ้างจากระดับปัจจุบัน เนื่องจาก (i) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวนสูงซึ่งได้รับแรงกดดันจากกลุ่มโอเปคขยายเวลาลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/ วันจนถึงสิ้นปีนี้ และรัสเซียขยายเวลาการปรับลดการส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกลง 300,000 บาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เช่นกันและ (ii) ผลกระทบของเอลนีโญที่อาจส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีหลายปัจจัยที่จะช่วยจำกัดการเร่งของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ อาทิ การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค การคงราคาก๊าซหุงต้ม และการลดราคาน้ำมันดีเซล

   

วิจัยกรุงศรีคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% ส่วนมุมมองดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่ากนง.จะยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ โดยคงไว้ที่ 2.25% ในการประชุมวันที่ 27 กันยายนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาลง โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย (1-3%) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งสะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจไทยแม้มีทิศทางฟื้นตัวแต่ระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (GDP level) ยังอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในระยะยาว

ฟิทช์เตือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่อาจทำให้ระดับหนี้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น กระทบเสถียรภาพทางการคลัง ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ฟิทช์ยังให้ความเห็นว่าเสถียรภาพทางการคลังของไทยอาจจะถูกกระทบจากการที่พรรคการเมืองหลายพรรคเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในช่วงหาเสียงว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายทางสังคม ซึ่งนโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่อาจส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น หากไม่สามารถรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องได้

ในสัปดาห์นี้รัฐบาลชุดใหม่จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจที่กำลังถูกจับตามองมากนโยบายหนึ่ง คือ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท (วงเงินรวม 5.6 แสนล้านบาท) ให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ราว 56 ล้านคน ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ในรัศมี 4 กิโลเมตร (อาจมีการปรับให้ยืดหยุ่น) ล่าสุดยังต้องติดตามความชัดเจนของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าวรวมถึงวิธีการแจก เบื้องต้นรัฐบาลระบุถึงแหล่งเงินอาจจะนำมาจากหลายๆ ภาคส่วนด้วยกัน อาทิ การจัดสรรจากงบประมาณรายจ่าย และการกู้เงิน (ล่าสุดหนี้สาธารณะเดือนกรกฏาคมอยู่ที่ 61.7%) สำหรับในส่วนผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขึ้นอยู่กับว่าการใช้จ่ายนี้จะสามารถหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปได้กี่รอบ ซึ่งจากผลการศึกษาของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (ปี 2564) พบว่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) ของรายจ่ายเงินโอนสำหรับประชาชนทั่วไปอยู่ที่ 0.947 ต่ำสุดเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายภาครัฐในประเภnอื่นๆ เช่น ค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ (1.871) รายจ่ายเงินโอนสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย (1.356) และรายจ่ายเพื่อการลงทุน (1.242) เป็นต้น