ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ก.ค. ฟื้นตัว จากใช้จ่ายในปท.-ท่องเที่ยว แต่ส่งออกหดตัว

Categories :

Public : 08/31/2023

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น จากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนหนึ่งการบริโภคได้รับผลดีจากช่วงวันหยุดยาว ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายลงทุน

  •  มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงจากหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเกษตรเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามมูลค่าการส่งออกเป็นสำคัญ

นายสักกะภพ พันธ์ยากูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในเดือนก.ค.66 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างติที่เดินทางเข้าไทย อยู่ที่ 2.49 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.2% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ อาทิ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซีย ที่มีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างรัสเซียและไทยมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวบางสัญชาติ อาทิ ออสเตรเลีย สิงค์โปร และยุโรป ปรับลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้ว 15.40 ล้านคน

ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดบริการและสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ ทั้งการใช้จ่ายในหมวดโรงแรมและภัตตาคาร และหมวดขนส่งผู้โดยสาร และยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากช่วงวันหยุดยาว ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง จากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น จากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนด้านคมนาคม ขณะที่รายจ่ายประจำทรงตัวจากปีก่อน โดยรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขยายตัว แต่รายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรลดลง หลังเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หดตัวจากผลของฐานสูงตามการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคมในปีก่อน

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติหลังจากเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมการนำเข้าในเดือนก.ค.66 มีมูลค่าราว 21,700 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12%

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปฮ่องกงและสหรัฐฯ 2) ทุเรียนไปจีนที่ลดลงตามผลผลิตที่หมดฤดูกาล และ 3) เคมีภัณฑ์ไปจีนและอาเซียน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นหลังปัญหาด้านอุปทานทยอยคลี่คลาย รวมทั้งหมวดเกษตรแปรรูปที่เพิ่มขึ้น ตามการส่งออกอาหารกระป๋องไปสหภาพยุโรปและอาหารสัตว์ไปจีน ภาพรวมการส่งออกในเดือนก.ค.66 มีมูลค่าราว 22,000 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.5%

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในหลายหมวด หลังจากชะลอลงในช่วงก่อน โดยเฉพาะการผลิตใน 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตน้ำตาล 2) หมวดยานยนต์จากการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ และ 3) หมวดยางและพลาสติกตามการผลิตยางล้อที่เพิ่มขึ้นหลังลดลงต่อเนื่องในช่วงก่อน อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลงจากเครื่องปรับอากาศ ที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.38% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนหมวดอาหารสดปรับลดลงจากทั้งผลของฐานสูงในปีก่อน และราคาเนื้อสุกรและผักที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.86% ลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนก.ค. ขาดดุล 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลจากการเกินดุลการค้าที่ลดลงตามมูลค่าการส่งออก ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 34.60 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเดือนมิ.ย.66 เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกอบกับสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลของไทยมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายเดือน

 

อย่างไรก็ดี ในเดือนส.ค.66 เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ช่วงไตรมาส 2/66 ออกมาต่ำกว่าที่คาด ประกอบกับดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างดี

 

นายสักกะภพ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนส.ค. ยังต้องพึ่งพาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีความเสี่ยง เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก โดยระยะต่อไป ต้องติดตาม 1.การชะลอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 2.นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และผลกระทบของภาวะเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 67