กกร.หั่นGDPปี’67โต2.2-2.7%คาดส่งออกชะลอยื่นค้านขึ้นค่าแรง400ทั่วประเทศ

Categories :

Public : 05/08/2024

กกร.ปรับลดกรอบประมาณการศก.ไทยปี 2567 เหลือขยายตัวเพียง 2.2-2.7% หลังส่งออกมีแนวโน้มเติบโตลดลงเหลือเพียง 0.5-1% เสนอ 5 ข้อค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศยื่นกระทรวงแรงงาน ย้ำต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคี

 

วันที่  8   พ.ค.  นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว

 

นายเกรียงไกร กล่าวว่า กกร.เดือนพ.ค.ได้ปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของไทยโดยจากเดิม(ณ เม.ย. 67) GDP จะโต 2.8 ถึง 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 2.2-2.7% การส่งออกลดจากเดิม 2—3% เป็น 0.5-1.5% และเงินเฟ้อจากเดิม 0.7 -1.2% เป็น 0.5-1% เนื่องจากการค้าโลกปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิมโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การค้าโลกปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7% ซึ่ง IMF ประเมินว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่านที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อปริมาณการค้าโลก ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้

   

“ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.2-2.7% ต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเช่นกันตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้วปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้าได้แก่ 1) ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ 2) การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้”นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุม กกร.เห็นว่าการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับกกร. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวันนั้น การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยในที่ประชุมจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

 

1) กกร. เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

 

2) กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไก จากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน

 

3) การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)

 

4) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟัง ความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน

 

5) นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึง ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมกันนี้จะมีการหารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยจะยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ