ม.หอการค้าไทยคาด GDP ปี 68 โตแตะ 3% ใช้จ่ายภาครัฐ-บริโภคเอกชน-ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน
Categories :
Public : 11/28/2024ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ไว้ที่ 3% โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ไว้ที่ 3% ทั้งนี้ คาดว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ จะขยายตัวได้ 2.4% ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.1% ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทย (ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) จะขยายตัวได้ 2.5% ชะลอตัวลงจากปี 67 เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปีนี้ ด้านการท่องเที่ยว ประเมินว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแตะ 40 ล้านคน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1.2% อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วง 1.75-2.25% โดยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้าลงได้อีก 1-2 ครั้ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์
“การที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% ไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไร ให้คนเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ 4-5% ตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ในขณะที่ IMF ยังมองว่าใน 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตอยู่ในระดับ 3%…หากไทยโตไม่ถึง 3% อาจจะโดนประเทศอื่นในอาเซียนแซงหน้า และเราอาจจะร่วงจากอันดับ 2 ของอาเซียน ลงมาอยู่อันดับ 5 อันดับ 6 ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างโดดเด่น” นายธนวรรธน์กล่าว
อย่างไรก็ดี ในปีหน้า ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปริมาณการค้าโลกที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด, ภาระหนี้สินของครัวและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง, ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตร, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังประเมินขนาดของผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละมาตรการ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 68 โดยรวมแล้ว 1.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นผลต่อ GDP ที่ 0.93% แยกเป็น
–มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป) คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 35,600 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.20%
– มาตรการแก้ปัญหาหนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 91,700 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.51% – มาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 38,500 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.22% นาย
ธนวรรธน์ มองว่า มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟส 2 ซึ่งคาดว่าจะได้รับก่อนตรุษจีนปี 68 นั้น ไม่ใช่ตัวหลักที่จะช่วยขับกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า แต่ตัวหลักคือมาตรการที่จะออกมาช่วยแก้หนี้ครัวเรือน และการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย ก็อาจจะทำมาตรการในรูปแบบของ Easy e-receipt
“ปีหน้า ถ้าทรัมป์มา เราประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะหายไป 1.6 แสนล้านบาท ถ้าเราไม่ใส่มาตรการอะไรเข้าไป ก็จะเป็นอุปสรรค ส่วนเงินโอนเฟส 2 แค่ 4 หมื่นล้านไม่ได้เป็นแกนหลัก แต่แกนหลักอยู่ที่การปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็ควรจะทำต่อ (เงินโอน เฟส 2) เพราะเป็นการดูแลค่าใช้จ่าย และยังช่วยเสริมเศรษฐกิจ ถ้าไม่ทำ จะทำให้เศรษฐกิจไม่คึกคัก แต่หากอยากกระตุกเศรษฐกิจให้หมุนได้ต่อ ก็ควรมีมาตรการเกี่ยวกับช้อปดีมีคืน หรือ e-receipt เชื่อว่ารัฐบาลจะตัดสินใจได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ แค่รับเงินจากภาษีเงินได้น้อยลงในอนาคต แต่มาตรการนี้ จะสามารถอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ 3-5 หมื่นล้าน ตามวงเงินของการใช้จ่าย จากที่คาดว่าจะมีประชาชนใช้มาตรการนี้ราว 1 ล้านคน นี่จะเป็นการกระตุกเศรษฐกิจ โดยรัฐไม่ต้องใช้เงิน สิ่งนี้ควรทำ” นายธนวรรธน์ ระบุ
ปัญหาการเมือง-เสถียรภาพรัฐบาล ตัวแปรสำคัญต่อศก.ไทยปีหน้า
อย่างไรก็ดี ในปีหน้าอาจจะต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ หลังจากเริ่มเห็นการหยิบยกประเด็นหรือความกังวลที่อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลว่าจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่ เช่น MOU 44 การยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อาจมีผลให้มีการออกมาชุมนุมประท้วงได้ และคำวินิจฉัยของศาลอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อพรรคร่วมรัฐบาล และเสถียรภาพของรัฐบาล
“การดำรงอยู่ของรัฐบาล ถ้ายังต่อเนื่องก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนที่จะมีงบประมาณแผ่นดิน ปี 69 จะทำให้เกิดปัญหาให้เราไม่สามารถใช้งบประมาณได้เป็นปกติเหมือนในปีนี้ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปีนี้ เศรษฐกิจไทยโตต่ำ…สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ที่ทำให้งบประมาณไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นยุบสภาหรืออะไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจากที่มองว่าจะโต 3% ก็จะย่อลงทันที” นายธนวรรธน์ ระบุ
คง GDP ปี 67 โต 2.6% ภาคท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 67 นี้ ม.หอการค้าฯ ยังคงประมาณการไว้เท่าเดิมที่ 2.6% โดยภาคบริการหรือภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35-36 ล้านคน ส่วนการส่งออก มีแนวโน้มขยายตัวได้ 4.6% การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัว 1.6% ส่วนการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวถึง 5% โดยมีแรงหนุนจากมาตรการโอนเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน หดตัว -0.4% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในระดับต่ำที่ 0.5% สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็งมากนัก อย่างไรก็ดี คาดว่า GDP ไตรมาส 4/67 จะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.6% ผลพวงน้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ ทำเงินหมื่นบาท เฟส 1 กระตุกศก.ปี 67 แผ่ว
ทั้งนี้ หลังจากได้ประเมินผลทั้งปัจจัยเสริม และปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ซึ่งแม้ในปีนี้จะมีการโอนเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคนไปเมื่อปลายเดือนก.ย.67 ก็ตาม แต่เมื่อหักลบจากผลกระทบน้ำท่วมรุนแรงในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ จึงทำให้ผลโดยสุทธิแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการโอนเงิน 10,000 บาทดังกล่าว จึงมีผลบวกต่อ GDP ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก เพียงแค่ 0.03% เท่านั้น
“จากที่เราทำการสำรวจกลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงินโอน 1 หมื่นบาท พบว่ากลุ่มเปราะบาง 60% มีการใช้เงินก้อนนี้หมดแล้ว คิดเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่ (30-40% จากกลุ่ม 60%) จะนำไปใช้หนี้บัตรเงินด่วน ซึ่งเงินก้อนนี้ แม้จะดีในด้านของช่วยลดค่าครองชีพ แต่ก็ไม่ได้หนุนเศรษฐกิจ ส่วนอีก 40% ยังเก็บเงินไว้อยู่ นอกจากนี้ การที่เงิน 1 หมื่นบาทในเฟสแรกไม่กระตุ้นเศรษฐกิจได้แรง เพราะมีปัญหาน้ำท่วมทางเหนือเข้ามากดดัน มูลค่าความเสียหายถึง 80,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้เงินโอน 1 หมื่นบาทในเฟสแรก ลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริงเพียง 20,000 ล้านบาท” นายธนวรรธน์ ระบุ