กกร. หั่นส่งออกปีนี้เหลือ -2 ถึง 0% เงินเฟ้อ 2.2-2.7% คง GDP โต 3-3.5%
Categories :
Public : 07/05/2023กกร. หั่นส่งออกปีนี้เหลือ -2 ถึง 0% เงินเฟ้อ 2.2-2.7% คง GDP โต 3-3.5% หวังเห็นโฉมรัฐบาลใหม่ไม่เกินส.ค. หากลากยาว ประเทศเสียโอกาส
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. กล่าวว่า ที่ประชุมได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% แต่ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่ -2 ถึง 0% จากเดิม -1 ถึง 0% และปรับลดกรอบเงินเฟ้อ ลงมาอยู่ที่ 2.2-2.7% จากเดิม 2.7-3.2%
ทั้งนี้ ในที่ประชุม กกร. มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น จากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะขึ้นไปถึง 29-30 ล้านคน รวมทั้งรายได้รวมจากท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นด้วย กกร.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 ยังเติบโตได้ราว 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อ GDP ทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัด และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนมูลค่าการส่งออกปีนี้ ประเมินว่าจะหดตัว -2 ถึง 0% หดตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ แม้ยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง (เอลนีโญ) และหากจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ยังคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 2.2-2.7% ต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามทิศทางราคาพลังงาน
ด้านเงินบาท อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สาเหตุจากเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มกลับมาเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เดิม ประกอบกับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวก็คาด จึงทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าชั่วคราว แต่เชื่อว่าจะทยอยกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของไทย และปัจจัยความไม่แน่นอนในประเทศที่คลี่คลายลง
ขณะเดียวกัน กกร.มีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ระดับสูงมาต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ที่ผ่านมา ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เตรียมที่จะพิจารณาประกาศในงวดใหม่(ก.ย.-ธ.ค.66) ที่เห็นว่าปัจจัยในการนำมาคำนวณมีทิศทางเป็นบวกที่จะทำให้ค่าไฟลดลงได้กว่า 10% จากงวดพ.ค.-ส.ค.66 และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วยจากขณะนี้ค่าไฟเฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วยอาทิ ก๊าซอ่าวไทยจากแห่งเอราวัณทยอยเพิ่มขึ้นจาก 200 เป็น 600 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ลดลง ราคาLNG ลดมากกว่า 30% ราคาพลังงานโลกลดลง และหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทั้งงวด 1-2 ลดลงเร็วกว่าแผน เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนยังคงคาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลหรือมีคณะรัฐมนตรี(ครม.)ช้าสุดไม่เกินส.ค.นี้โดยหากตั้งได้เร็วจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะด้านงบประมาณต่างๆที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากการจัดตั้งยิ่งช้าออกไปเท่าใดก็จะยิ่งกระทบเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวที่ปลายปีจะเป็นช่วงไฮซีซั่น
โดยขณะนี้ภาคส่งออกเราชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทำให้ ส.อ.ท.พบว่า 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกต้องลดกะการทำงานลง แต่เราก็คาดหวังว่าในไตรมาส 4 นี้คำสั่งซื้อจะกลับมาจะทำให้ดีขึ้น แต่ภาพรวมส่งออกก็ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง