กบข.บริหารเงินให้ ข้าราชการที่เป็น สมาชิกกว่า 1.2ล้านราย
Categories :
Public : 06/26/2023
หากจะพูดถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ถึงทุกวันนี้อยู่คู่กับระบบราชการไทยมา กว่า 32 ปีแล้ว โดย กบข.ถูกจัดขึ้น ในปี พ.ศ. 2534
คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund) โดยกำหนดให้ข้าราชการที่รับราชการก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 27 มีนาคม 2540 สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ สำหรับข้าราชการที่เข้ารับราชการหลังวันดังกล่าว ต้องเข้าเป็นสมาชิก กบข. ทุกคนตามที่กฎหมายกำหนด
ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เมื่อออกจากราชการ หรือ เกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินก้อน กบข. และบำเหน็จหรือบำนาญจากส่วนราชการเจ้าสังกัด ซึ่งเงินก้อน กบข. เป็นส่วนผสมระหว่างเงินออมของสมาชิกกับ เงินสมทบและเงินชดเชยจากบำนาญจากรัฐ และผลประโยชน์จากการลงทุนที่ กบข. บริหารจัดการให้
วันนี้ Wealthplustoday.com พาไปดูว่า ปัจจุบันนั้น กบข.มีจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าไร และประกอบด้วยข้าราชการจากส่วนงานไหนบ้าง???
ทั้งนี้จากตัวเลข ณ สิ้นเดือน พ.ค2566 นั้น พบว่า กบข.มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด รวม 1,200,892 ราย แบ่งเป็นเพศ ชาย581,016ราย และ หญิง619,876ราย ประกอบด้วย
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา384,956ราย
ข้าราชการพลเรือน382,549ราย
ข้าราชการทหาร196,342ราย
ข้าราชการตำรวจ166,582ราย
ข้าราชการฝ่ายตุลาการ14,051ราย
ข้าราชการในพระองค์13,878ราย
ข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น12,409ราย
ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ9,850ราย
ข้าราชการฝ่ายอัยการ9,039ราย
ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน3,015ราย
ข้าราชการรัฐสภาสามัญ2,981ราย
ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต2,559ราย
ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง2,526ราย
ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 155 ราย
โดย ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี2566 กบข.มีสินทรัพย์สุทธิ ภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 1.23 ล้านล้านบาท และ มีผลประโยชน์รอการจัดสรร 967.72 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในการบริหารเงินกองทุน กบข.ก็มีนโยบายชัดเจน และแบ่งสัดส่วนการลงทุน (ตามกราฟ)
วัตถุประสงค์ของ กบข.
- เป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
- ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
- จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก
กบข. เป็นองค์กรที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ กบข. ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ กบข. เป็นผู้กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งการจัดการกองทุน โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี
หน้าที่หลักของ กบข.
- ด้านลงทุน : นำเงินที่รับจากสมาชิกและส่วนราชการไปลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด
- ด้านสมาชิก : ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารฐานข้อมูลสมาชิก การจัดสรรผลประโยชน์จากการลงทุน การประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สมาชิก รวมถึงการจ่ายเงินและผลประโยชน์คืนให้แก่สมาชิกเมื่อพ้นสมาชิกภาพ
