ดีลอยท์เปิดผลวิเคราะห์โควิด19ดัน”IPO”ทั่วโลกคึกคัก – ไทยผู้นำระดมทุนจากไอพีโอสูงสุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Categories :

Public : 11/15/2022

ดีลอยท์ เผยภาพรวมตลาดไอพีโอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2565จำนวนการเสนอขายหุ้นไอพีโอทั่วทั้งภูมิภาคคาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัวแต่การระดมทุนลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ดีลอยท์ ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 แสดงให้เห็นว่า บริษัทต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถระดมทุนได้เป็นจำนวน 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหุ้นไอพีโอของบริษัทจำนวน 136 บริษัท   ลดลง ร้อยละ 52 จากสถิติ 13.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากหุ้นไอพีโอของบริษัทจำนวน 152 บริษัท ในปี 2564

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีหุ้นไอพีโอรายย่อยจำนวนมากขึ้นในปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการแพลตฟอร์มเพื่อระดมทุนในสภาพแวดล้อมของตลาดที่ท้าทายในปัจจุบัน ในปีนี้มี PT GoTo Gojek Tokopedia Tbk และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นไอพีโอรายใหญ่เพียง 2 บริษัทเท่านั้น ซึ่งอาจหมายความว่าบริษัทขนาดใหญ่ ต่างรอเวลาและเลื่อนการเข้าจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไปเพื่อรอช่วงเวลาที่สภาวะตลาดที่ดีขึ้น

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยรายใหม่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น และส่งผลให้ตลาดหุ้นไอพีโอคึกคักทั่วโลกในปี 2564 โดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีจำนวนเงินทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตลาดทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหุ้นไอพีโอกลับชะลอตัวลงในปีนี้ แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้นเล็กน้อย โดยมูลค่าการระดมทุนลดลง ร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับหุ้นไอพีโอในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่ลดลง ร้อยละ 95 และ ร้อยละ 91 ตามลำดับ

 
นางสาว เท ฮวี ลิง Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ เซาท์อีสท์ เอเชีย และสิงค์โปร์ กล่าวถึงตลาดหุ้นไอพีโอในภูมิภาคนี้ว่า “ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การซื้อขายหุ้นไอพีโอมีความเคลื่อนไหวตามการเติบโตของเศรษฐกิจและจีดีพี แต่สองปีที่ผ่านมาสถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม เช่นเดียวกับที่โลกกำลังเอาชนะการแพร่ระบาด การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจโลกและเปิดพรมแดนใหม่อีกครั้งได้กระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 8.8 ในปี 2565 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ตลอดทั้งปีเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคเหล่านี้ ตลาดหุ้นไอพีโอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตได้ดี ในขณะที่เรายังคงเห็นศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค”

     ภาพรวมตลาดในประเทศไทย

  ประเทศไทยยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำที่สามารถระดมทุนจากไอพีโอได้สูงสุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระดมทุนได้ทั้งหมด 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหุ้นไอพีโอของบริษัท 28 บริษัท จำนวนเงินที่ระดมทุนได้ในปีนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับจำนวนเงินจากการระดมทุนในปี 2017 - 2019 (มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) เป็นสัญญาณว่าสิ่งต่างๆ กลับสู่สภาวะเดิมก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนในปี 2020 และ 2021 เงินจากการระดมทุนในแต่ละปี มีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ นักลงทุนต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่หายไปในช่วงปีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19      ได้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

         

“เรายังคงเห็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตั้งแต่ สินค้าอุปโภคบริโภค บริการทางการเงิน และธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ เราได้เห็น REIT ที่มีการลงทุนในการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวของท่าอากาศยานเป็นครั้งแรก และมีบริษัท 39 แห่งที่คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนภายในปี 2566” นางวิลาสินี กฤษณามระ Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว

 

นางสาว อิเมลดา ออร์บิโต Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ อินโดนีเซีย กล่าวว่า "ตลาดทุนหุ้นไอพีโอของอินโดนีเซียเริ่มต้นได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 และถึงแม้จะมีการชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 แต่อินโดนีเซียยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดไอพีโอในภูมิภาค การที่ GoTo และ BliBl สามารถระดมเงินทุนได้สูงเช่นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ท่ามกลางภาวะตกต่ำของตลาดโลกอันเนื่องมาจากความกังวลทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เรายังคงมองในแง่ดีว่าหุ้นไอพีโอจากบริษัทด้านเทคโนโลยีจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอีกสองเดือนข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน(Consumer non-cyclicals industry).

ภาพรวมตลาดประเทศอินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย รั้งอันดับสองของภูมิภาคฯ ด้วยจำนวนเงินทุนที่ระดมทุนได้ถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเสนอขายหุ้นไอพีโอ 54 บริษัทในปี 2565 โดย PT GoTo Gojek Tokopedia Tbk เพียงบริษัทเดียวสามารถระดมทุนหุ้นไอพีโอได้ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และครองตำแหน่งสูงสุดในกระดานผู้นำหุ้นไอพีโอของภูมิภาคในปีนี้ และ PT Global Digital Niagra Tbk หรือที่รู้จักกันในชื่อ BliBli” ตามมาเป็นอันดับสองด้วยการระดมทุนจำนวน 516 ล้านเหรียญสหรัฐ GoTo และ Blibli ได้เข้าร่วมกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในอินโดนีเซียที่กำลังเติบโต ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ภาพรวมตลาดประเทศมาเลเซีย

ตลาดหุ้นไอพีโอของมาเลเซียได้ผ่านพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีจำนวนเงินที่ระดมทุนได้เพิ่มขึ้น 102% อยู่ที่ 681 ล้านเหรียญสหรัฐ การระดุมทุนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนของบริษัทจดทะเบียน ACE เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จากเดิม 11 บริษัทในปี 2564 เพิ่มเป็น 22 บริษัทในปี 2565 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจผลักดันให้บริษัทพื้นฐานที่ดีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องการใช้ประโยชน์จากตลาดตราสารทุนเพื่อให้มีฐานเงินทุนที่มีความหลากหลายและถูกกว่า

“แม้ตลาดหุ้นไอพีโอจะได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีบริษัทต่างๆ ที่มองหาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานที่ดีในปี 2565 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าตลาดทุนมาเลเซียมีการปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว” นายหว่อง การ์ ชุน Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ มาเลเซีย กล่าว

ภาพรวมตลาดประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์มีการเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 9 บริษัท โดยสามารถระดมทุนได้ 421 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 10.5 เดือนแรกของปีนี้ ในจำนวนนี้ ประกอบด้วยบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (Special Purpose Acquisition Companies – “SPAC”) 3 บริษัท ซึ่งระดมทุนได้ 389 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหุ้นไอพีโอในกระดาน Catalist 6 บริษัท โดยระดมทุนได้เป็นจำนวน 32 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการระดมทุนแบบ SPAC ที่เปิดตัวในประเทศสิงคโปร์ในเดือนกันยายน 2021 SPAC ในสิงคโปร์มีกำหนดระยะเวลาให้บริษัทระดมทุนได้ภายใน 24 เดือน โดยสามารถขยายระยะเวลาต่อได้อีก 12 เดือน จึงคาดการณ์ว่า บริษัทที่ผ่านการระดมทุนแบบ SPAC แล้ว (de-SPACs) จะสนับสนุนให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาระดมุทนแบบ SPAC เพิ่มขึ้น

“ตั้งแต่ปี 2010 มี REIT หรือ Business Trust อย่างน้อยหนึ่งรายการในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) อย่างไรก็ตาม เราพบว่าไม่มี REIT ในช่วง 10.5 เดือนแรกของปีนี้ ถ้ามองในแง่ดี มีการเปลี่ยนแปลงในกระแสเงินทุนและการย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังประเทศสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการขยายโอกาสเพิ่มมากยิ่งขึ้นในตลาดหุ้นไอพีโอของสิงคโปร์ หากตลาดของเราสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ อีกสองถึงห้าปีข้างหน้าอาจเป็นปีทองสำหรับตลาดหุ้นไอพีโอของเรา นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น เสถียรภาพทางการเมืองของสิงคโปร์ การจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประสบผลสำเร็จ และการเปิดประเทศอย่างราบรื่นจะช่วยให้สิงคโปร์ยังคงดึงดูดความสนใจให้ธุรกิจต่างๆ เข้ามาจัดตั้งสำนักงาน” นายดาร์เรน อึ้ง Disruptive Events Advisory Deputy Leader Deloitte Singapore กล่าว

 

คาดการณ์แนวโน้มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการคาดการณ์ในช่วงเวลาที่เหลือจนถึงปี 2566 นางสาวเทให้ความเห็นว่า “ยังคงมีช่องว่างให้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเติบโตได้อีกมาก เมื่อภูมิภาคผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เราคาดว่าการซื้อขายหุ้นไอพีโอจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่มีความผันผวน เนื่องจากตลาดปรับโหมดจากสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับสู่ “สภาวะปกติ” แม้ว่าบริษัทเทคโนโลยีอาจได้รับการประเมินมูลค่าต่ำกว่าปกติในปัจจุบัน แต่บริษัทที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่มั่นคงและความสามารถที่พิสูจน์ได้ว่าธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรได้ จะยังคงได้รับการประเมินมูลค่าตลาดที่ดีที่สุดและยังคงได้รับประโยชน์จากตลาดทุนได้”

 

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการและนักข่าว: ข้อมูลทั้งหมดมีความถูกต้อง ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และไม่รวมการเสนอซื้อขายหุ้นไอพีโอ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รายงานการซื้อขายหุ้นไอพีโอ ประจำปี 2565 จะเผยแพร่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566