จุฬาฯ ร่วมมือ World Economic Forum เปิดรายงาน The Future of Jobs 2025
Categories :
Public : 01/09/2025จุฬาฯ ร่วมมือ World Economic Forum เปิดรายงาน The Future of Jobs 2025 : ชี้ AI-Big Data มาแรง แนะกลยุทธ์รับมืออนาคตด้วย Holistic Skill Change สร้างมนุษย์แห่งอนาคตที่เหนือกว่า AI ด้วย II (Instinctual Intelligence)
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข้อมูลรายงาน "Future of Jobs 2025" โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยร่วมกับ World Economic Forum เพื่อเสนอแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี 2568–2573
รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจกว่า 1,000 บริษัท ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก โดยรายงานนี้ชี้ให้เห็นถึง 5 ปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงตลาดแรงงาน ในปี 2573 (โดยเรียงลำดับความสำคัญ) ดังนี้:
1. Technological Change การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะ
2. Green Transition การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นความต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน
3. Economic Uncertainty ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายสำคัญ
4. Demographic Shifts การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ประชากรสูงอายุในประเทศรายได้สูงและแรงงานขยายตัวในประเทศรายได้ต่ำปรับเปลี่ยนตลาดแรงงาน
5. Geoeconomic Fracmentation การแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ
อนาคตของตำแหน่งงาน : หายไปและเกิดใหม่
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว
ในอนาคตอันใกล้ ตำแหน่งงาน 92 ล้านตำแหน่งจะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ท่ามกลางตำแหน่งงานที่หายไป จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ อีก 170 ล้านตำแหน่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเติบโตสุทธิของการจ้างงานคิดเป็น 7% หรือเท่ากับ 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก ซึ่งมาจากการเติบโตของตำแหน่งงานใหม่ๆ
สำหรับตำแหน่งงานดาวรุ่ง ได้แก่ Big Data specialists (ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่) , Fintech Engineers (วิศวกรด้านการเงินดิจิทัล), AI and Machine Learning specialist (ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการเรียนรู้ของเครื่องจักร), Security management specialist (ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความปลอดภัย)
ขณะที่ตำแหน่งงานที่จะเริ่มหายไป เช่น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์, พนักงานธนาคาร, เจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูล, พนักงานแคชเชียร์และพนักงานจำหน่ายตั๋ว, ผู้ช่วยด้านธุรการและเลขานุการบริหาร
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า “ ผมเชื่อว่างานเหล่านี้ไม่ได้หาย แต่งานเหล่านี้จะทรานสฟอร์มไปเป็นดิจิทัล เป็น AI ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากให้งานของเราหายไป ต้องมาดูว่าเราต้องพัฒนาที่เรียกว่า Skill Evolution โดย Core Skills ที่สำคัญ ได้แก่ Analytical Thinking ทักษะการคิดวิเคราะห์, Resilient ทักษะความยืดหยุ่น, Leadership ทักษะความเป็นผู้นำ, Social Influence สร้างอิทธิพลต่อสังคม ขณะที่ Skill ใหม่ๆ หรือ Emerging Skills จากงานวิจัยล่าสุด Future of Jobs 2025 ได้แก่ AI, Cyber Security, Creative Thinking และ Lifelong Learning”
ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก
ปี พ.ศ. 2573 สองในห้าของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง โดย 10 ทักษะที่จำเป็นในอนาคตของประเทศไทย ได้แก่
อันดับที่ 1 ทักษะด้าน AI และ Big Data
อันดับที่ 2 ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
อันดับที่ 3 ทักษะด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
อันดับที่ 4 ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ( Networks and Cyber security)
อันดับที่ 5 มีความเป็นผู้นำและสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้ ( Leadership and Social Influence)
อันดับที่ 6 ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่นและคล่องตัว ( Resilence, flexibility and agility)
อันดับที่ 7 มีความเห็นอกเห็นใจและมีทักษะในการรับฟัง ( Empathy and Active Listening)
อันดับที่ 8 มีความเข้าใจตนเองและมีแรงจูงใจในการทำงาน ( Motivation and Self Awarness)
อันดับที่ 9 ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร ( Talent Management)
อันดับที่ 10 มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต ( Curiousity and Lifelong Learning)
ทั้งนี้ 10 อันดับทักษะในอนาคตของประเทศไทยเมื่อเทียบกับของโลกมีความแตกต่างที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในการคิดทั้งการคิดอย่างสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิเคราะห์ รวมทั้งการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ การรับฟังกันอย่างเห็นอกเห็นใจและการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
และแม้ประเทศไทยจะมองเห็นความจำเป็นในการพัฒนาทักษะด้าน AI และ Big Data แต่ยังให้ความสำคัญกับทักษะด้านความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยีและความปลอดภัยทางไซเบอร์ค่อนข้างน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก และนอกจากนี้ แม้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับทักษะทั้งด้าน Soft skill และ Technology skill แต่ยังขาดการปลูกฝังทักษะในด้านจริยธรรมอันเป็นทักษะที่มีความจำเป็นในการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
4 กลยุทธ์สำคัญของไทยสู้อนาคต 1. สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change : ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในหลากหลายมิติ ไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
2. สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization : มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
3. Human Replacement: งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คน และทดแทนด้วยระบบ Automation
4. Enhancing Dynamic Work Role: มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
กลยุทธ์เหล่านี้ไม่เพียงสร้างคนพันธุ์ใหม่ แต่ยังช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างยั่งยืน
ชนะ AI ด้วย II (Instinctual Intelligence)
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวย้ำว่า “ Skill ที่ยังเป็นพระเอก คือ AI ซึ่งปัญหาของประเทศไทยที่ AI ตอบโจทย์ไม่ได้คือเราต้องมี Ecosystem รองรับ วันนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่เป็น AI University ที่นำ AI มาใช้ในการทำงาน แต่ก้าวสู่การเป็น ’The University of AI‘ศูนย์รวมแห่งการสร้างสรรค์ AI โดยเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งสร้าง “คนพันธุ์ใหม่” หรือ Future Human ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญในการใช้งาน AI (Artificial Intelligence) แต่ยังเปี่ยมด้วยทักษะที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ “ปัญญาสัญชาตญาณ” ซึ่งสร้างสรรค์ปัญญาที่ไม่อาจประดิษฐ์ขึ้นได้
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในวันนี้สิ่งที่จะชนะ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ได้ มีสิ่งเดียวในโลก คือ ปัญญาที่ไม่ต้องประดิษฐ์ หรือปัญญาสัญชาตญาณ ที่สำคัญ ‘คนพันธุ์ใหม่’ จะต้องไม่ได้มีเพียงสมองที่ชาญฉลาด แต่ต้องมีหัวใจที่ดีงาม ที่จะเปลี่ยนความสามารถทางเทคโนโลยีให้เป็นพลังที่สร้างคุณค่าแก่ทั้งตนเองและสังคม
เพราะฉะนั้นวันนี้จุฬาจึงไม่ใช่แค่วิจัยเพื่อรู้ว่า ทักษะไหนบ้างที่จำเป็นในอนาคต แต่วิจัยเพื่อวางแผนว่าเราจะสร้างทักษะเหล่านี้ให้กับคนไทยได้อย่างไร บทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้ต้องเป็น Skill incubator ที่ผลิตคนที่มี Future skill ให้กลายเป็น Future Human หรือคนพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะแห่งอนาคตรอบด้าน”
เรียบเรียงโดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง