ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดส่งออกไทยปี 66 หดตัว 1.5% เผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจคู่ค้า

Categories :

Public : 12/28/2022

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดส่งออกไทยปี 66 หดตัว 1.5% เผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจคู่ค้า ผลด้านราคาเริ่มลดลง ขณะที่ส่งออกไทยเดือน พ.ย.65 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ 6% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลส่งออกไทยในปี 65 มีโอกาสไม่เติบโตหรือขยายตัวเล็กน้อย

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการส่งออกของไทยในปี 66 มีความเสี่ยงหดตัวที่ 1.5% โดยคาดว่ามีมูลค่าอยู่ที่ราว 2.82 แสนล้านดอลลาร์ฯ สินค้าในหมวดหมู่สินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจหดตัวจากราคาที่ลดลงตามอุปสงค์โลก ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ อัญมณี ยานยนต์ ก็อาจทำตลาดในเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญได้อย่างจำกัด อีกทั้ง สินค้าอาหารที่แม้ยังเติบโตแต่ก็มีสัดส่วนน้อย ส่วนสินค้าที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวอยู่ที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเป็นหลัก

  อย่างไรก็ดี หากมีการเร่งเดินหน้าทำตลาดส่งออกในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกที่ไม่ใช่ตลาดหลักของไทยโดยเฉพาะตลาดตะวันออกลาง รวมถึงหากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อความต้องการสินค้านำเข้าน้อยกว่าที่คาด การส่งออกของไทยในปี 65 ยังมีโอกาสที่จะไม่เติบโตหรือขยายตัวเล็กน้อย

  ปี 66 การส่งออกของไทย ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจคู่ค้าที่เปราะบางมากขึ้นอีก ฐานการส่งออกที่ทำสถิติสูงต่อเนื่องในปีนี้ ปัจจัยด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัว ตลอดจนปัจจัยเฉพาะของแต่ละสินค้าที่ล้วนทำให้ภาพการส่งออกในปีหน้าไม่สดใสเท่าที่ควร โดยมีรายละเอียดดังนี้

  เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีนอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 อย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4/2565 โดยตลาดส่งออกหลักของไทยเจอมรสุมเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

  โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มอ่อนไหวกว่าตลาดอื่นๆ ด้วยวิกฤตพลังงานและเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ยิ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่คิดเป็นเกือบ 30% ของการส่งออกไทยไปสหภาพยุโรป ตลาดสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ

  ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้คาดว่าการส่งออกในสินค้าหลายประเภท อาทิ ยานยนต์ อัญมณี คงจะหดตัวลง แม้ว่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรศัพท์คาดว่า อาจยังขยายตัวได้หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีมานี้

  ส่วนหนึ่งเป็นการเบนเข็มการส่งออกจากตลาดจีนไปตลาดสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากสงครามการค้า ตลาดญี่ปุ่นแม้เศรษฐกิจเปราะบางแต่ยังต้องการสินค้าอาหารและปัจจัยการผลิตที่ต้องยอมรับว่าทำตลาดได้เติบโตอย่างจำกัด ตลาดจีนที่มาตรการโควิดเป็นศูนย์ผ่อนคลายไปมาก ส่งผลให้คาดว่ากำลังซื้อในประเทศจะฟื้นกลับมาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าอาหารไทย แต่ยังมีประเด็นท้าทายด้านการแข่งขันที่สูงขึ้นในผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทย

ในขณะที่สินค้าส่งออกไทยที่มีสัดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโภคภัณฑ์อาจเผชิญการส่งออกที่มีมูลค่าลดลงจากผลของราคา สำหรับตลาดอาเซียนแม้เศรษฐกิจในภาพรวมของสมาชิกยังมีภาพบวกแต่สินค้าไทยที่ส่งไปราว 30% ล้วนอิงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้การส่งออกไปตลาดดังกล่าวอ่อนแรงพอสมควร

  สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์เสี่ยงหดตัวในทุกตลาด อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ล้วนเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลงตามอุปสงค์โลกที่ลดลง แม้ในระยะข้างหน้าจีนจะมีการเปิดประเทศก็คาดว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้กลับมาพุ่งขึ้นกลับไปใกล้เคียงระดับในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นั้นยังจำกัด

  ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ยางและผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่เป็นยางล้อรถยนต์ คงทำตลาดได้อย่างจำกัดเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าไทยโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่เป็นปลายทางสินค้าฟุ่มเฟือยที่สำคัญ

 สินค้าจำเป็นในหมวดอาหารยังรุ่ง แต่สินค้าอาหารมีมูลค่าไม่สูงเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม โดยมีสัดส่วน 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย จึงยังไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวลงของสินค้าขั้นกลางและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ การส่งออกผลไม้ (ทุเรียน) ที่เป็นสินค้าอาหารอันดับ 1 ล้วนส่งออกไปจีน ซึ่งในเวลานี้ต้องเผชิญการแข่งขันกับทุเรียนจีน เวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์เข้ามาทำตลาดจีนมากขึ้น รวมทั้งยังมีประเด็นมาตรฐานการปลูก (GAP) และโรงคัดบรรจุ (GMP)

  สำหรับสินค้าน้ำตาลที่อาจเติบโตได้ไม่มากนักจากราคาที่ปรับลดลง รวมถึงสินค้าอาหารอื่นๆ ยังคงทำตลาดได้ อาทิ ไก่แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป ข้าว เครื่องดื่มและอาหารสัตว์เลี้ยง

  สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังมีโอกาสเติบโตในบางตลาด โดยสินค้าเพื่อตอบโจทย์กิจกรรม Work Form Home เติบโตอย่างจำกัดเนื่องจากตลาดค่อนข้างอิ่มตัวไปแล้วหลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2564-2565 แต่สินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการยังได้อานิสงส์จากความต้องการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น จีนและอาเซียนที่ยังมีสัญญาณเติบโตต่อเนื่องในปีนี้

  แต่สิ่งที่น่าจับตาอีกแห่งคือฐานการผลิตในสหรัฐฯ เริ่มเดินเครื่องการผลิตจากการการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงที่ผ่านมา นั่นทำให้มีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ HDD โทรศัพท์และชิ้นส่วนและไดโอด

  สำหรับการส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน 65 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -6.0%(YoY) โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้ส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปีเติบโตที่ 7.6%(YoY) ทั้งนี้ ส่งออกไทยตลอดปี 65 คาดว่าจะเติบโตเป็นบวกทำสถิติมูลค่าการส่งออกสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งได้แรงส่งจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกชะลอตัวอย่างชัดเจนและน่าจะเป็นภาพต่อเนื่องในปีถัดไป

  มูลค่าการส่งออกในปี 65 ที่สูงอย่างมาก การอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลกปรากฎชัดยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อของคู่ค้า รวมทั้งผลด้านราคาที่ลดลง ทำให้การส่งออกของไทยปี 66 อาจหดตัวที่ 1.5% มีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 2.82 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยมีแรงฉุดจากสินค้าที่เสี่ยงหดตัว ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เครื่องประดับและยานยนต์ สินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่สินค้าจำเป็นแม้ยังมีทิศทางสดใสแต่มีข้อจำกัดในการเติบโต อาทิ สินค้าอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกไม่มาก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างจำกัดจึงไม่เพียงพอขับเคลื่อนการส่งออกในภาพรวม

  การส่งออกเติบโตช้าลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ด้วยหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า บวกกับการอ่อนแรงของตลาดส่งออกที่เริ่มปรากฎชัด ทำให้การส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน 2565 หดตัว -6.0%(YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มีมูลค่า 22,308.0 ล้านดอลลาร์ฯ ฉุดให้การส่งออก 11 เดือนแรกของปีเติบโตอยู่ที่ 7.6% (YoY)

  โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้แก่ การหดตัวของสินค้าในกลุ่ม คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเมื่อพิจารณาเป็นรายตลาดพบว่า ตลาดหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่แม้การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยแต่ภาพรวมยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการชะลอตัวของความต้องการนำเข้าสินค้าของประเทศดังกล่าว ขณะที่การส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และอาเซียนหดตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งตอกย้ำความอ่อนแรงของกำลังซื้อคู่ค้าของไทยที่อาจส่งผลต่อเนื่องในปีต่อไป