กรุงไทยชี้ส่งออกสินค้าและอุตสาหกรรมเกษตรQ2/66 หดตัว เผชิญแรงกดดันเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว

Categories :

Public : 08/10/2023

 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2 อยู่ที่ 13,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (470,427 ล้านบาท) กลับมาหดตัว -6.3%YoY หลังจากที่ขยายตัว 1.8%YoY ในไตรมาส 1 โดยสินค้าที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง

 แม้การส่งออกไปจีนจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น ไก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แต่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงจากการเร่ง stock สินค้าในปีก่อน กอปรกับกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงเปราะบาง ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2 กลับมาหดตัว

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า ในระยะข้างหน้า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดหลักเติบโตต่ำกว่าคาด ปัญหาภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ อีกทั้งยังเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า รวมถึงความท้าทายจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการ

 

Krungthai COMPASS มองว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในระยะข้างหน้ามีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้

· เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักสินค้าเกษตรไทยเติบโตต่ำกว่าคาดอาจฉุดการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในภาค อุตสาหกรรมของจีนที่ยังอ่อนแอ จึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีน อย่างยางพารา

· ปัญหาภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ มีแนวโน้มจะทำให้ฝนแล้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และทำให้ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของธุรกิจอาหารแปรรูปซึ่งต้องใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และอาจทำให้ผู้ประกอบการอาหารแปรรูปขาดแคลนวัตถุดิบจนกระทบต่อการส่งออก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ เป็นผลพวงจากรัสเซียไม่ต่ออายุข้อตกลงเปิดทางทะเลดำให้ขนส่งธัญพืชออกจากยูเครน ซึ่งจะสร้างความกังวลให้ราคาธัญพืชทั่วโลกมีโอกาสกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

· แรงกดดันด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และอาจกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น

· ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงอยู่แล้ว

· มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ธุรกิจเกษตรและอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกจับตาในประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเป็นภาคที่มีส่วนทำให้เกิด Climate Change โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะนำมาซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ที่มักมีข้อจำกัดในการปรับตัว