PwC ชี้ความสามารถด้านดิจิทัล-ความหลากหลายของคณะกรรมการของธุรกิจครอบครัวไทยอยู่ในระดับต่ำ
Categories :
Public : 06/01/2023ผลสำรวจล่าสุดแนะเจ้าของกิจการทบทวนวิธีการสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
PwC เปิดผลสำรวจฉบับล่าสุด พบมีเพียงหนึ่งในสี่ หรือ 25% ของธุรกิจครอบครัวไทยที่มีความสามารถด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ต่ำกว่าทั่วโลกที่ 42% ขณะที่มากกว่า 70% มีแต่สมาชิกในครอบครัวเท่านั้นที่นั่งเป็นบอร์ดบริษัท มากกว่าเกือบสองเท่าของทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องทบทวนการดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสืบทอดมรดกและขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลก ครั้งที่ 11 ฉบับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลกของ PwC ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารกว่า 2,000 รายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยในจำนวนนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยจำนวน 44 รายพบว่า ธุรกิจครอบครัวไทยมีผลประกอบการที่ดีในช่วงปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ โดย 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจมียอดขายเติบโต ขณะที่เพียง 14% มียอดขายลดลง เปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2564 ที่ 39% มียอดขายเติบโต และ 31% มียอดขายลดลง
นอกจากนี้ 68% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังคาดหวังว่า ยอดขายจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีกสองปีข้างหน้า ต่ำกว่าทั่วโลกเพียงเล็กน้อยที่ 77% โดยภารกิจที่ธุรกิจครอบครัวไทยให้ความสำคัญมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ การขยายสู่ตลาดหรือกลุ่มลูกค้าใหม่ (64%) การเพิ่มความจงรักภักดีของลูกค้า (48%) และการแนะนำสินค้าและบริการใหม่ ๆ (48%)
อย่างไรก็ดี ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการที่จำเป็นในการสร้างความไว้วางใจกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญสามกลุ่ม ได้แก่ ลูกค้า พนักงาน และสมาชิกในครอบครัว ซึ่งรวมถึงการผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, social and governance: ESG) เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม (Diversity, equity and inclusion: DEI) และการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล เป็นต้น
นาย ไพบูล ตันกูล หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัวและหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “ธุรกิจครอบครัวมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะสูญเสียความไว้วางใจ หากยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ เพราะพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับ ESG การสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายและความเท่าเทียม รวมไปจนถึงคุณค่าและเป้าหมายขององค์กรที่ต้องสอดคล้องกับคุณค่าส่วนบุคคลและสังคมส่วนรวมด้วย”
รายงานระบุว่า 72% ของธุรกิจครอบครัวไทย ไม่มีการสื่อสารเป้าประสงค์ขององค์กรต่อสาธารณะ (สูงกว่าทั่วโลกที่ 59%) ขณะที่ 95% ไม่มีการสื่อสารกลยุทธ์ ESG ที่ชัดเจน (สูงกว่าทั่วโลกที่ 85%) และ 82% ไม่มีคำแถลงถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมแนวคิดด้าน DEI (สูงกว่าทั่วโลกที่ 79%)
ความสามารถด้านดิจิทัลของธุรกิจครอบครัวไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
ผลจากการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจครอบครัวไทยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลในระดับต่ำ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 25% เท่านั้นที่กล่าวว่า ตนมีความสามารถด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ต่ำกว่าทั่วโลกที่ 42% และมีเพียง 27% ที่มองการปรับปรุงความสามารถด้านดิจิทัลเป็นภารกิจอันดับต้น ๆ ขององค์กร ต่ำกว่าทั่วโลกเช่นกันที่ 44%
นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data governance) โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 27% เท่านั้นที่กล่าวว่า มีการสื่อสารและป้องกันการใช้ข้อมูลอย่างแข็งขัน ขณะที่ 14% มีการตอบโต้การโจรกรรมข้อมูลและละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งสองตัวเลขต่ำกว่าทั่วโลกที่ 29% และ 27% ตามลำดับ
การจัดการกับความขัดแย้งและความไว้วางใจในผู้นำรุ่นใหม่
เมื่อพิจารณาถึงการจัดการกับความขัดแย้งภายในครอบครัวพบว่า ธุรกิจครอบครัวไทยเกือบครึ่ง หรือ 49% เลือกที่จะจัดการกับความขัดแย้งกันเอง โดยมีเพียง 18% เท่านั้นที่ประยุกต์ใช้กลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Conflict resolution mechanism) เพื่อแก้ไขข้อพิพาท เช่น ธรรมนูญครอบครัว ข้อตกลงผู้ถือหุ้น หรือแม้กระทั่ง พินัยกรรม
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจครอบครัวไทยยังขาดความไว้วางใจในสมาชิกครอบครัวบางกลุ่ม โดยผู้นำรุ่นใหม่ (NextGens) ได้รับความไว้วางใจต่ำกว่าสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ ที่ 20% เปรียบเทียบกับทั่วโลกที่ 43% นอกจากนี้ ความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัท (Board diversity) ก็อยู่ในระดับต่ำ โดยผู้ตอบแบบสำรวจมากถึง 71% กล่าวว่า มีสมาชิกในครอบครัวเท่านั้นที่เข้าร่วมในคณะกรรมการบริษัท คิดเป็นสองเท่าของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่ 36%
สำหรับการให้อำนาจการตัดสินใจกับพนักงาน ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจครอบครัวไทยไม่ถึงครึ่ง หรือ 47% มีกระบวนการภายในเพื่อให้พนักงานได้อุทธรณ์ หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของฝ่ายบริหารได้ ต่ำกว่าทั่วโลกที่ 57%
“การเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย จะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจและนำความยั่งยืนมาสู่กิจการ เพราะจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเห็นมุมมองที่แตกต่าง และสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้กับองค์กรได้” นาย ไพบูล กล่าว