เทคโนโลยีลดการปล่อย Emission ในอุตสาหกรรมเหล็ก และก้าวต่อไปสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไทย
Categories :
Public : 10/31/2023การปล่อย GHG ปริมาณมากในอุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลให้ต้องมีการเร่งปรับปรุงกระบวนการการผลิต เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต โดยเริ่มมีการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อย GHG ของผู้ผลิตเหล็กทั่วโลก จนเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะผู้ผลิตเหล็กชั้นนำในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น สวีเดน ที่เริ่มลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อย CO2 ในอุตสาหกรรมเหล็ก และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล จนได้ผลิตภัณฑ์ Fossil-free steel สำหรับจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ โดยมีความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งภาคการผลิตวัสดุก่อสร้าง การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และการผลิตรถยนต์ อาทิ
Hydrogen Breakthrough Ironmaking Technology (HYBRIT) โดย SSAB ผู้ผลิตเหล็กสัญชาติสวีเดนนำ Green hydrogen เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กพรุน (Sponge Iron หรือ Direct Reduce Iron : DRI) และนำมาหลอมรวมกับเศษเหล็กในเตาหลอมไฟฟ้าระบบอาร์ค (Electric Arc Furnace : EAF) ที่ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนตลอดกระบวนการผลิต จนได้ Fossil-free steel และประสบความสำเร็จในการผลิตรถยนต์ต้นแบบที่ใช้ Fossil-free steel ทั้งคัน โดยมีความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Volvo และ Mercedes ซึ่งมีแผนที่จะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายในปี 2026
Carbon Capture and Utilization (CCU) เป็นการดักจับ CO2 จากโรงงานผลิตเหล็กของ ArcelorMittal ในเบลเยียม และนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปจนได้ผลิตภัณฑ์เอทานอลที่เรียกว่า “Steelanon” โดย LanzaTech ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลก
จากเทรนด์การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทำให้คาดว่าจะมีความต้องการใช้งานเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง ที่มีการสร้างอาคารสีเขียว ภาคการผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีส่วนประกอบของ Green steel ไปจนถึงภาคการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
การนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทยไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต และการสนับสนุนจากภาครัฐ การพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อย CO2 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีงบประมาณการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งด้านบุคลากร และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการผลิต Green steel คือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และผู้ผลิตเหล็กในประเทศ โดยอาจเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อย CO2 และค่ามาตรฐานสำหรับ Green steel ที่ชัดเจน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาเครื่องมือการวัด และการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังต้องมีการออกมาตรการสนับสนุนการผลิต อย่างการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ผลิตเหล็ก เพื่อใช้ในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้งานเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องให้ใช้ Green steel
ความร่วมมือในการลดการปล่อย CO2 ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยนับเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด โดยปัจจุบัน ผู้ผลิตเหล็กของไทยเกือบทั้งหมดมีการใช้เตาหลอม EAF ในการผลิตเหล็กแล้ว อย่างไรก็ดี ยังสามารถพิจารณาการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต และการแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาดเพิ่มเติมให้เพียงพอ เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาจัดเก็บข้อมูล และติดตามสถานการณ์การปล่อย CO2 ของอุตสาหกรรมเหล็กอีกด้วย
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะข้างต้นจะเป็นก้าวแรกในการแสดงความมุ่งมั่นของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะนำไปสู่ก้าวต่อไป ที่จะมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้มากขึ้นในอนาคต
อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่… www.scbeic.com/th/detail/product/steel-green-tech-251023
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : อิษฎา อารมย์ดี Economist trainee ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) EIC Online : www.scbeic.com Line : @scbeic