เปิดตัวเลข บจ.ในตลาดหุ้นเสียภาษีให้รัฐปี65 เฉียด4แสนล้าน!!

Categories :

Public : 06/14/2023

ตลาดหลักทรัพย์เปิดตัวเลข บจ.ในตลาดหุ้นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้รัฐปี65 เฉียด4แสนล้าน!!

 

ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกSet Note เรื่อง ตลาดหุ้นไทย กับบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจไทย กับการมีส่วนร่วมเสียภาษีให้รัฐ โดยรายงานวิจัยได้ระบุว่า

 ตลาดทุนประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งมีส่วนในการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม สร้างกำลังซื้อผ่านการจ้างงาน และสร้างผลกำไร ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ ให้ภาครัฐผ่านการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษี และเป็น “ห่านทองคำ” อีกตัวหนึ่งในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 - 2565) รัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีสุทธิหลังหักการจัดสรรแล้วเฉลี่ยปีละ 2.37 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จัดเก็บโดยกรมสรรพากร และกว่า 631,000 ล้านบาทเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล

  หากพิจารณาเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจากงบการเงินรวม พบว่า ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนไทย 813 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยมูลค่ารวมกว่า 375,000 ล้านบาท คิดเป็น 50.2% ของภาษีนิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บทั้งหมดในปี 2565

 

 กลไกการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากมูลค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจดทะเบียนนำส่งกรมสรรพากรในช่วง 3 ปีหลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนเข้าจดทะเบียนฯ จากความสามารถในการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นและความโปร่งใสในการทำบัญชีที่เพิ่มมากขึ้น

  นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ภาครัฐจัดเก็บจากบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทจดทะเบียนยังมีการจ่ายภาษีในรูปแบบต่างๆ และไม่รวมถึงภาษีต่างๆ ที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยได้จ่ายภาษีให้ภาครัฐ อาทิ ภาษีอื่นๆ และรวมทั้งอากร ที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายรวมกว่า 277,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรจัดเก็บจากการจ้างงานพนักงานของบริษัทจดทะเบียนไทย ในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 80,325 ล้านบาท หรือ 24% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่สรรพากรจัดเก็บในปี 2564

ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ที่หักจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อมีการจ่ายปันผล ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงกว่า 249,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 ปีเดียวมีการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย รวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท  ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐ

 

นอกจากนี้ กลไกจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้น ที่กำหนด ให้ผู้ประกอบการที่เตรียมเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนจะต้องจัดทำระบบบัญชีให้ถูกต้อง มีมาตรฐานการบัญชีในการจัดทำงบการเงิน และต้องแต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบ ล้วนส่งผลให้งการเงินของบริษัทจดทะเบียนหลังเข้าจดทะเบียนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และบริษัทจดทะเบียนมีแหล่งระดมทุนรองรับการเติบโตส่งผลให้สามารถขยายกิจการและสร้างผลกำไรได้เพิ่มมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มมากขึ้น

ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีรายได้รวมสูงถึง 18.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากปีก่อน หรือเติบโตเฉลี่ยละ 5.5% ในช่วง10 ที่ผ่าน

จากข้อมูลรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ในช่วงปี26 ปีที่ผ่านมา (ปี2540 - 2565) ตามภาพที่ 3 ที่บริษัทจดทะเบียนไทยดำเนินงานภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจหลายรอบ อาทิ วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ตลอดจนวิกฤติจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวร้ส 2019 (COVID-19) แต่รายได้ของบริษัทจดทะเบียนสามารถเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า9.0% ขณะที่ในช่วงเดียวก้น ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน(Nominal GDP) เติบโตเฉลี่ย 4.9% ต่อปี

จะเห็นได้ว่าบริษัทจดทะเบียนไทยโตเกือบ 1.8 เท่าเมื่อเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ แสดงให้เห็น ได้ว่า การดำ เนินงานของบริษัท จดทะเบียนมีส่วนสำคัญผลักดัน การเติบโต ของเศรษฐกิจของประเทศไทย